ภูมิปัญญาการแกะรูปหนังตะลุง
นายสรรเสริญ ศรีทวีกูล
บ้านเลขที่ 85 หมู่ที่ 7 ต.รัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา 90220
กลุ่มหนังตะลุงบ้านต้นตอ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 85 หมู่7 ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง จ.สงขลา หรือที่รู้จักกันในนามของบ้านหนังสง และปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของชมรมหนังตะลุงพื้นบ้านศรีวิชัยควนเนียง และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ อำเภอควนเนียง ได้อนุรักษ์ชิ้นงานการแกะสลักรูปตัวหนังตะลุงบนแผ่นไม้ตำเสาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าชิ้นสุดท้ายของหนังอิ่มเท่ง จิตต์ภักดี หนึ่งในบรมครูนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงของ อ.ควนเนียง ก่อนที่จะเสียชีวิต ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นบรรจงแกะอย่างวิจิตรบรรจงบนแผ่นไม้ตำเสาขนาดใหญ่ความสูงเกือบเมตรครึ่ง มีลวดลายและสีสันสวยงามมีรายละเอียดที่เป็นเอกลักษ์ของตัวหนังตะลุงแต่ละตัวครบถ้วน ทั้งตัวพระ ตัวนาง และตัวตลก เช่น หนูนุ้ย ไอ้เท่ง ยอดทอง และไอ้แก้ว ซึ่งแต่ละชิ้นงานต้องใช้เวลาแรมเดือนในการแกะสลักให้ได้ตัวหนังตะลุงที่ออกมาสวยงาม
นายสรรเสริญ ศรีทวีกูล ลูกชายของหนังสง ศรีทวีกูล กล่าวว่า การแกะรูปตัวหนังตะลุงบนแผ่นไม้เป็นเจตนารมณ์ของพ่อที่จะสืบสานศาสตร์แห่งศิลปะตัวหนังตะลุง ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ซึ่งการแกะรูปตัวหนังตะลุงบนแผ่นไม้จะคงทนกว่าการใช้หนังวัวมาแกะเพราะนานวันจะทำให้คดงอ และท่านได้ลงมือแกะรูปตัวหนังตะลุงจนวาระสุดท้ายของชีวิต และน่าจะเป็นผลงานการแกะรูปตัวหนังตะลุงบนแผ่นไม้หนึ่งเดียวของไทย ซึ่งทางกลุ่มหนังตะลุงบ้านต้นตอจะร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ตามเจตนารมณ์ของท่าน เนื่องจากไม่มีใครสามารถทำได้อีกแล้ว
สำหรับกลุ่มหนังตะลุงบ้านต้นตอแห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมของการแกะรูปหนังตะลุงและประวัติของบรมครูนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงของอำเภอควนเนียง ในอดีตทั้ง 3 ท่าน ทั้ง หนังอิ่มเท่ง จิตร์ภักดี หรือหนังอิ่มเท่ง หนังเอื้อม หัชบูรณ์ หรืออ้ายหนูหนัด และหนังพร้อม อัศวิน หรือพร้อม อินทปาน
นายสรรรเสริญ ศรีทวีกูล ยังได้เป็นวิทยากรสอนกลุ่มสนใจ กลุ่มอาชีพ ของ กศน.อำเภอควนเนียง ในวิชาการแกะรูปหนังตะลุง นอกจากนั้นครูได้นำนักศึกษาจาก กศน.ตำบลไปศึกษาเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่นี่ด้วย
เข้าชม : 2718
|