|
|
การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้มีความรู้ เจตคติ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน สามารถเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของข่าวสารข้อมูล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอนาคต โดยเน้นการฝึกปฏิบัติให้ผู้เรียนเกิดทักษะชีวิต ๑๐ ประการ คือ
(๑) ทักษะการตัดสินใจ หมายถึง ความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างรอบคอบ
(๒) ทักษะการแก้ปัญหา หมายถึง ความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมีระบบไม่เกิดความเครียด
(๓) ทักษะการคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล ข่าวสาร ปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวได้
(๔) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความสามารถในการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ ช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา เพื่อค้นหาทางเลือกต่าง ๆ และผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก และสามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีพลังในการต่อสู้ และอย่างเหมาะสมกับวัย
(๕) ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง ความสามารถในการใช้คำพูด และท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความคิดและความรู้สึกของตนเองอย่างถูกต้อง เหมาะสม เช่น การแสดงความคิดเห็น ความต้องการ ความชื่นชม การขอร้อง การเจรจาต่อรอง การตักเตือน การช่วยเหลือ การปฏิเสธ ฯลฯ
(๖) ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ หมายถึง ความสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล และรักษา ความสัมพันธ์นั้นไว้ได้
(๗) ทักษะการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง การรู้จักและเข้าใจตนเอง เช่น รู้ข้อดี ข้อเสีย ของตนเอง รู้ความต้องการ และสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้รู้ตัวเองเวลาเผชิญกับความเครียด หรือสถานการณ์ต่าง ๆ
(๘) ทักษะความเห็นใจผู้อื่น หมายถึง มีความเข้าใจความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างบุคคล ในด้าน ความสามารถ เพศ วัย ระดับการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ สีผิว อาชีพ ฯลฯ เข้าใจความรู้สึก และยอมรับบุคคลอื่นที่ต่างจากตนเอง
(๙) ทักษะการจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง การรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้ว่าอารมณ์มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมอย่างไร รู้วิธีจัดการกับอารมณ์โกรธหรือโศกเศร้าที่ส่งผลทางลบต่อร่างกาย และจิตใจได้อย่างเหมาะสม
(๑๐) ทักษะการจัดการกับความเครียด หมายถึง การรับรู้ถึงสาเหตุของความเครียด รู้วิธีผ่อนคลายความเครียด และแนวทางในการควบคุมระดับความเครียด
แนวคิดในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ให้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ และเจตคติ เกี่ยวกับเนื้อหาใน ๗ เรื่อง โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้นำทักษะชีวิต ๑ – ๑๐ ทักษะ มาบูรณาการ ให้ผู้เรียนมีเจตคติ และมีทักษะชีวิต เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เมื่อจัดครบทุกเนื้อหาแล้วผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตครบทั้ง 10 ทักษะ
ส่วนเนื้อหาที่สถานศึกษานำไปจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตเน้นใน ๗ เรื่อง คือ
๑. สุขภาพกาย-จิต
๒. ยาเสพติด
๓. เพศศึกษา
๔. คุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
๕. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
๖. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๗. ประชาธิปไตยในวิถีชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นความส าคัญที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อน าไปใช้ประโยชน์ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้อง ได้ฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็นเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง เช่น
- ผู้สูงอายุในชุมชน มีปัญหาป่วยเป็นโรคเบาหวาน/หัวใจ สามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมทักษะชีวิต โดยฝึกทักษะ คิดวิเคราะห์หาสาเหตุ ผลกระทบของโรคต่อการดำเนินชีวิต คิดแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์เมนูอาหารต้านโรค ฝึกคิดวิเคราะห์ว่าตนเองเหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหน เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และฝึกท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย เป็นต้น
- ผู้สูงอายุในชุมชน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ท้อแท้ ขาดกำลังใจ รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า สามารถจัดกิจกรรม ทักษะชีวิต โดยฝึกทักษะการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง เช่น ให้เล่าถึงความหลัง ความภูมิใจ ความสำเร็จ ในการเลี้ยงลูก เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ค้นหาความสนใจในงานอดิเรกเพื่อแก้เหงา หรือทำอาชีพได้ หากมีปัญหา เรื่องการพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัว ให้ฝึกทักษะการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน หากมีปัญหา ความเครียด ให้ฝึกทักษะการจัดการความเครียด โดยหาสาเหตุของความเครียดและวิธีการผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น
- กลุ่มเป้าหมายในชุมชน มีปัญหาความขัดแย้ง ทำผิดกฎจารจร ไม่รู้จักสิทธิหน้าที่ของพลเมืองดี ตัดไม้ ทำลายป่า ทิ้งขยะจนล้นเมือง ติดยาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร ทุจริตคอรับชั่น ถูกทำร้าย ขโมยทรัพย์สิน หลงเชื่อ งมงายในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ สามารถจัดกิจกรรมทักษะชีวิตโดย ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์จากข่าวหนังสือพิมพ์ หรือ สถานการณ์จริงที่เป็นปัญหาในชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ ผลเสียที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ฝึกทักษะ การตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคิดหาทางเลือกที่ปฏิบัติได้ ฝึกทักษะการสื่อสารพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ ระหว่างกัน เป็นต้น
แนวทางการจัดกิจกรรม
๑. วิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ชุมชน และนโยบายของแต่ละระดับ
๒. การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการชวนคิด ชวนคุยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ การสร้างเสริมเจตคติที่ดี และการฝึกทักษะ ชีวิตที่จำเป็น เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
๓. สื่อที่ใช้ในการจัดกิจกรรม อาจใช้ข่าวหนังสือพิมพ์ บทความ กระทู้จากเว็บไซต์ ละคร รวมถึงสื่อบุคคล ที่เป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน เพื่อเรียนรู้เรื่องชีวิตในลักษณะ “บทเรียนชีวิต”ที่จะน ามาพูดคุยเพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันระมัดระวังป้องกันและหาทางแก้ไข
๔. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นจุดเน้น ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- เยาวชนกลุ่มเฉพาะ เช่น คุณแม่วัยใส กลุ่มเสี่ยงยาเสพติด
- กลุ่มอื่น ๆ
เข้าชม : 804 |
|
|
|
|