[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 
การศึกษาขั้นพื้นฐาน
กศน.ตำบลโคกม่วง จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่รุ่นที่ ๒ ร่วมกับกศน.ตำบลคลองหลา ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๐ ณ.โครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ผู้เข้าร่วม ๕๐ คน กศน.โคกม่วง ๒๕ คน กศน.ตำบลคลองหลา ๒๕คน

การจัดการศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

ตอนที่ 1  หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

ความนำ 

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 49 กำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และมาตรา 80 ได้กำหนดเป็นนโยบายด้านการศึกษาว่า ต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ ซึ่งกฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ กำหนดให้มีการส่งเสริมการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 15 กำหนดนิยามการศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลา ของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์จากการทำงานและการประกอบอาชีพ โดยกำหนดสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเป้าหมายด้านจิตใจ ให้มีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถจัดการกับองค์ความรู้ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และสอดคล้องกับสภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร

ปรัชญา

        หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ยึดปรัชญา “คิดเป็น” มาใช้ในการจัดการศึกษา ปรัชญา”คิดเป็น” อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความต้องการที่เหมือนกัน คือ  ทุกคนต้องการความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อตัวเรา ความรู้ทางวิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมกลมกลืนกันได้ก็จะมีความสุข โดยคิดแบบพอเพียง พอประมาณ ไม่มากไม่น้อย เป็นทางสายกลาง สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล
       กระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญา “คิดเป็น” มีผู้เรียนสำคัญที่สุด โดยครูจะเป็นเพียงผู้จัดโอกาส กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ ปัญหาหรือความต้องการ มีการเรียนรู้จากข้อมูลจริงและตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้ คือ ข้อมูลตนเอง วิชาการ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าหากสามารถทำให้ปัญหาหายไป กระบวนการก็ยุติลง ถ้ายังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ ก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง กระบวนการนี้ก็จะยุติลงเมื่อบุคคลพอใจและมีความสุข

หลักการ

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดหลักการไว้ดังนี้
      1. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นด้านสาระการเรียนรู้ เวลาเรียน และการจัดการเรียนรู้โดยเน้นการบูรณาการเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความแตกต่างระหว่างบุคคล และชุมชน  สังคม
      2. ส่งเสริมให้มีการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      3. ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยตระหนักว่าผู้เรียนมีความสำคัญ สามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
      4.ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

จุดหมาย 

       หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ จึงกำหนดจุดหมายดังต่อไปนี้
      1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงามและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
      2.มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต และการเรียนรู้ต่อเนื่อง
      3.มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง
      4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี และสามารถจัดการกับชีวิต ชุมชน  สังคมได้อย่างมีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
      6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

 

กลุ่มเป้าหมาย 

ประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน

โครงสร้าง

      เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามหลักการ จุดหมาย และมาตรฐานการเรียนรู้ ที่กำหนดไว้ให้สถานศึกษาและภาคีเครือข่ายมีแนวปฏิบัติในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จึงได้กำหนดโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 ไว้ดังนี้

1. ระดับการศึกษา

ระดับการศึกษา แบ่งออกเป็นออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้คือ
1.1 ระดับประถมศึกษา
1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

2.สาระการเรียนรู้

 สาระการเรียนรู้ประกอบด้วย  5 สาระ ดังนี้
       1. สาระทักษะการเรียนรู้  เป็นสาระเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้แหล่งเรียนรู้ การจัดการความรู้ การคิดเป็นและการวิจัยอย่างง่าย
       2. สาระความรู้พื้นฐาน เป็นสาระเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
       3. สาระการประกอบอาชีพ เป็นสาระเกี่ยวกับการมองเห็นช่องทางและการตัดสินใจประกอบอาชีพ ทักษะในอาชีพ การจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรมและการพัฒนาอาชีพให้มั่นคง
       4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต เป็นสาระเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต  ศิลปะและสุนทรียภาพ
       5. สาระการพัฒนาสังคม เป็นสาระที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง  ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หน้าที่พลเมือง และการพัฒนาตนเอง ครอบครัว  ชุมชน  สังคม

3.กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

         กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม 

4. มาตรฐานการเรียนรู้

          หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้  ตามสาระการเรียนรู้ทั้ง  5 สาระ ที่เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียน  ดังนี้
         1. มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้เมื่อผู้เรียนเรียนจบหลักสูตร การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 
         2. มาตรฐานการเรียนรู้ระดับ  เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้  เมื่อผู้เรียนเรียนจบในแต่ละระดับ  ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 

5. เวลาเรียน

               ในแต่ละระดับใช้เวลาเรียน  4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอนผลการเรียนทั้งนี้ ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน 

6. หน่วยกิต

            ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต

7. โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

 

         สาระการเรียนรู้ จำนวนหน่วยกิต
ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย
วิชาบังคับ วิชาเลือก วิชาบังคับ วิชาเลือก วิชาบังคับ วิชาเลือก
1. ทักษะการเรียนรู้

 

2. ความรู้พื้นฐาน

3. การประกอบอาชีพ

4. ทักษะการดำเนินชีวิต

 5. การพัฒนาสังคม

.

 5

 

12

 8

 5

 6

   5

 

16

 8

 5

 6

  5

 

20

8

5

6

 
รวม 36  12 40 16 44 32
48 หน่วยกิต 56 หน่วยกิต 76 หน่วยกิต
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 200 ชั่วโมง 200 ชั่วโมง 200 ชั่วโมง 

หมายเหตุ วิชาเลือกในแต่ละระดับ สถานศึกษาต้องจัดให้กับผู้เรียน เรียนรู้จากการทำโครงงาน จำนวนอย่างน้อย  3 หน่วยกิต

 

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วย
1) สาระการเรียนรู้ 5  สาระคือ ทักษะการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐาน การประกอบอาชีพ ทักษะการดำเนินชีวิต และการพัฒนาสังคม
2) จำนวนหน่วยกิตในแต่ละระดับ ดังนี้            
      2.1) ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 36 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 12  หน่วยกิต
       2.2) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 16 หน่วยกิต
       2.3) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 44 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต
3) ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับละไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง

1. สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ 

สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วยสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ดังนี้

1) สาระทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 มาตรฐาน
มาตรฐานที่ 1.1 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
มาตรฐานที่ 1.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการใช้แหล่งเรียนรู้
มาตรฐานที่ 1.3 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการจัดการความรู้
มาตรฐานที่ 1.4 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการคิดเป็น
มาตรฐานที่ 1.5 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการวิจัยอย่างง่าย

2)สาระความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วย 2 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 2.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร
มาตรฐานที่ 2.2 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3) สาระการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 3.1  มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีในงานอาชีพ  มองเห็นช่องทางและตัดสินใจประกอบอาชีพได้ตามความต้องการ  และศักยภาพของตนเอง
มาตรฐานที่ 3.2  มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะในอาชีพที่ตัดสินใจเลือก
มาตรฐานที่ 3.3  มีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรม
มาตรฐานที่ 3.4  มีความรู้ ความเข้าใจ ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง

4) สาระทักษะการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 4.1 มีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดีเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม 
มาตรฐานที่ 4.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริม  สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
มาตรฐานที่ 4.3 มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับศิลปะและสุนทรียภาพ        

5) สาระการพัฒนาสังคม ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 5.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  การเมือง  การปกครอง สามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต 
มาตรฐานที่ 5.2 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและสืบทอดศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
มาตรฐานที่ 5.3 ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย มีจิตสาธารณะ เพื่อความสงบสุขของสังคม
มาตรฐานที่ 5.4 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของหลักการพัฒนา และสามารถพัฒนาตนเอง ครอบครัว  ชุมชน/สังคม

หมายเหตุ  สาระการเรียนรู้ความรู้พื้นฐาน  มาตรฐานที่  2.1 มีความรู้ความเข้าใจทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร  ซึ่งภาษาในมาตรฐานนี้หมายถึง  ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

 

ตอนที่ 2 การจัดการเรียนรู้

1. วิธีการจัดการเรียนรู้

  การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายดังนี้                 

1) การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ภูมิปัญญา ผู้รู้ และสื่อต่าง ๆ

2)  การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาข้อสรุปร่วมกัน

3)  การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยที่ผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ หรือถ้ามีความจำเป็นอาจพบกันเป็นครั้งคราว

4 ) การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ ที่ชัดเจน ซึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียน

5 )  การเรียนรู้ตามอัธยาศัย เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความต้องการ และความสนใจ จากสื่อเอกสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือจากการฝึกปฏิบัติตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ 

แล้วนำความรู้และประสบการณ์มาเทียบโอนเข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

6 ) การเรียนรู้จากการทำโครงงาน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดเรื่องโดยสมัครใจ ตามความสนใจ ความต้องการ หรือสภาพปัญหา ที่จะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า ทดลอง ลงมือปฏิบัติจริง และมีการสรุปผลการดำเนินการตามโครงการ โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และกระตุ้นเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้

7 ) การเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ สถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ อื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียน

          วิธีการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนร่วมกันกำหนดวิธีเรียนโดยเลือกเรียนวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีก็ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหา และสอดคล้องกับวิถี ชีวิต และการทำงานของผู้เรียน โดยขณะเดียวกันสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ทุกวิธีเรียน เพื่อเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้

2.  การจัดกระบวนการเรียนรู้ 

       การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนสู่ความเป็นคน “คิดเป็น” โดยเน้นพัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ ประยุกต์ใช้ความรู้ และสร้างองค์กรความรู้สำหรับตนเอง และชุมชน สังคม ซึ่งกำหนดการจัดกระบวนการเรียนรู้ กศน. หรือ ONIE MODEL ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบตามปรัชญา “คิดเป็น” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้  

ขั้นที่ 1 กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ (O: Orientation)
ขั้นที่ 2 แสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)
ขั้นที่ 3 ปฏิบัติและนำไปประยุกต์ใช้ (I: Implementation)
ขั้นที่ 4 ประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)

 ขั้นที่ 1  กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้  (O: Orientation)

เป็นการเรียนรู้จากสภาพ ปัญหา หรือความต้องการของผู้เรียน และชุมชน สังคม โดยให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร

ขั้นตอนการเรียนรู้ 
1)  ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะได้มาจากสถานการณ์ในขณะนั้น หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หรือเป็นประเด็นที่กำลังขัดแย้ง และกำลังอยู่ในความสนใจของชุมชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่คิดจะหาทางออกของปัญหา หรือความต้องการนั้น ๆ
2)  ทำความเข้าใจกับสภาพ ปัญหา ความต้องการในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ โดยดึงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เน้นการมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนความคิดและอภิปรายโดยให้เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่
3)  วางแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดสามารถมองเห็นแนวทางในการค้นพบความรู้หรือคำตอบได้ด้วยตนเอง         

ขั้นที่ 2  ขั้นแสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)

        การแสวงหาข้อมูล และจัดการเรียนรู้ โดยศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และรวบรวมข้อมูลของตนเอง ข้อมูลของชุมชน สังคม และข้อมูลทางวิชาการ จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมีการระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และสรุปเป็นความรู้

ขั้นตอนการเรียนรู้  
1) ผู้เรียนแสวงหาความรู้ตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ กระบวนการกลุ่ม ศึกษาจากผู้รู้ /ภูมิปัญญาและวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม
2) ครูและผู้เรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปความรู้เบื้องต้น โดยใช้คำถามปลายเปิดในการชวนคิด ชวนคุย เป็นเครื่องมือ ด้วยกระบวนการการระดมสมอง สะท้อนความคิดและอภิปราย
3) ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประเมินความเป็นไปได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การทดลอง การทดสอบ การตรวจสอบกับผู้รู้

ขั้นที่ 3 การปฏิบัติแลละนำไปประยุกต์ใช้ ( I: Implementation)

       นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เหมาะสมกับวัฒนธรรมและสังคม

ขั้นตอนการเรียนรู้ 
ผู้เรียนปฏิบัติตามขั้นตอน โดยสังเกตปรากฏการณ์ จดบันทึก และสรุปผล เก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน ระหว่างดำเนินการต้องมีการตรวจสอบหาข้อบกพร่อง และรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน

ขั้นที่ 4 การประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)

         ประเมิน ทบทวน แก้ไขข้อบกพร่อง ผลจากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แล้วสรุปเป็นความรู้ใหม่ พร้อมกับเผยแพร่ผลงาน

         ขั้นตอนการเรียนรู้ ครู และผู้เรียนนำแฟ้มสะสมงาน และผลงานที่ได้จากกการปฏิบัติมาใช้เป็นสารสนเทศในการประเมินคุณภาพการเรียนรู้ 

1) ครูและผู้เรียนร่วมกันสร้างเกณฑ์การประเมินคุณภาพการเรียนรู้
2) ครู ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมิน พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพการเรียนรู้

         การจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้ง 4 ขั้นตอนเป็นวงจรของกระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญาคิดเป็น ซึ่งสถานศึกษาสามารถปรับใช้ ขั้นตอนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพของรายวิชา หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้เรียน

3. สื่อการเรียนรู้

         ในการจัดการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่  สื่อสิ่งพิมพ์  สื่ออิเล็กทรอนิกส์  สื่อบุคคล  ภูมิปัญญา  แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ชุมชนและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผู้เรียน ครู สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเองหรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัวและข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้  โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่า  น่าสนใจ  ชวนคิด ชวนติดตาม เข้าใจง่าย เป็นการากระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้  เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  ลึกซึ้งและต่อเนื่องตลอดเวลา

4. การเทียบโอน

         สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเทียบโอนผลการเรียน  หรือเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 โดยสถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบหรือแนวปฏิบัติการเทียบโอนให้สอดคล้องกับแนวทางการเทียบโอนที่สำนักงาน กศน.กำหนด

5.การวัดและประเมินผลการเรียน

        การวัดและประเมินผลการเรียน  เป็นกระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงการพัฒนา  ความก้าวหน้า  ความสำเร็จ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เกิดทักษะกระบวนการและค่านิยมที่พึงประสงค์ ซึ่งสถานศึกษาในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษา  จะต้องจัดทำระเบียบและแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา  เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
         1) การวัดและประเมินผลรายวิชา เป็นการประเมินผลการเรียนรายวิชา สถานศึกษาต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทางด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ  คุณธรรม  และค่านิยมอันพึงประสงค์อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพียงใด และต้องมีการประเมินผลรวมเพื่อทราบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้หรือไม่อย่างไร  ดังนั้นการวัดและประเมินผลจึงต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
         2 ) การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการประเมินสิ่งที่ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนเอง  ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยพิจารณาทั้งเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม การปฏิบัติกิจกรรมและผลจากการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
         3) การประเมินคุณธรรม เป็นการประเมินสิ่งที่ต้องการปลูกฝังในตัวผู้เรียน โดยประเมินจากกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านการพัฒนาตน การพัฒนางาน  การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การเข้าร่วมกิจกรรม การเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ และกิจกรรมในลักษณะอื่น ๆ ที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
         4) การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ในภาคเรียนสุดท้ายของทุกระดับการศึกษาในสาระการเรียนรู้ที่สำนักงาน กศน.กำหนด การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนของผู้เรียนสำหรับนำไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบต่อไป การประเมินดังกล่าวไม่มีผลต่อการได้หรือตกของผู้เรียน

6. การจบหลักสูตร

         ผู้จบการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551 ในแต่ละระดับการศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การจบหลักสูตร ดังนี้
         1) ผ่านการประเมินและได้รับผลการตัดสินการเรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดทั้ง 5 สาระการเรียนรู้ และได้ตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดตามโครงสร้างหลักสูตร
         2) ผ่านกระบวนการประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง
         3) ผ่านกระบวนการประเมินคุณธรรม
         4) เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

7.เอกสารหลักฐานการศึกษา

     เอกสารหลักฐานการศึกษาให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  สถานศึกษาทุกแห่งต้องใช้เอกสารหลักฐานการศึกษาเหมือนกัน  เพื่อประโยชน์ในการสื่อความเข้าใจที่ตรงกันและการส่งต่อได้แก่

1) ระเบียนแสดงผลการเรียน
2) หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา(ประกาศนียบัตร)
3) แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา

          เอกสารหลักฐานการศึกษาอื่น ๆ  สถานศึกษาต้องพิจารณาจัดทำเพื่อใช้ประกอบการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตามที่เห็นสมควร เช่น แบบประเมินผลกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

เอกสารอ้างอิง

       สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.(2551). หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: การจัดการศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  https://panchalee.wordpress.com/2010/12/28/non-formal

 


เข้าชม : 817
 
 
กศน.ตำบลโคกม่วง 
หมู่ที่ 9 บ้านทอนคลอง ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา 90230
โทร.089-2998971  
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05