[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
แหล่งเรียนรู้และเครือข่าย

1. เกษตรผสมผสาน สืบสานการเรียนรู้ “บ้านย่านยาว”

ระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน โดยมีรูปแบบที่ดำเนินการในการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์หลายๆ ชนิดอยู่พื้นที่เดียวกัน  มีการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิตหนึ่ง  เพื่อใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร  โดยทั่วไปการผลิตแบบนี้มักเป็นรูปแบบการเกษตรประเภททำเพื่อพอกินพอใช้  ทำโดยสมาชิกในครัวเรือน  พอมีเหลือจึงขาย  ซึ่งการเกษตรแบบนี้จัดว่าเป็นการเกษตรแบบดั้งเดิม 

ตัวอย่างเกษตรกรสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง อาจารย์มนัส  พรหมจรรย์ ข้าราชการบำนาญ เมื่อพ้นจากงานในราชการก็พลิกชีวิตมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หันมาศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรจากหนังสือภูมิปัญญา และจากการศึกษาเรียนรู้ทดลองทำเองบ้าง จนประสบความสำเร็จ จากพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ บริเวณบ้านของตัวเอง โดยใช้เนื้อที่ในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ญี่ปุ่น ไก่เบตง ปลูกผักไฮโดรโฟนิกส์ สวนหม่อน ปลูกมะนาวในท่อซิเมนต์  ไม้ผลต่างๆ เช่น มังคุด ชมพู่ สะตอ รวมผักสวนครัวต่างๆ ที่มีครบครัน นอกจากนี้ในการทำเกษตรผสมผสาน ก็ได้ศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ โดยการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยน้ำหมักไว้ใช้เอง การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำน้ำหยด รวมถึงการขยายพันธุ์พืช เช่นการปักชำ การตอนกิ่ง แบบง่ายๆ ได้ผลดี สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ดี และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนในตำบล โดยการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

แหล่งเรียนรู้ เกษตรผสมผสาน  สืบสานการเรียนรู้ “บ้านย่านยาว”  หากสนใจจะเรียนรู้และศึกษาความรู้ด้านเกษตรผสมผสาน ติดต่อได้ที่ อาจารย์มนัส  พรหมจรรย์  บ้านเลขที่ 116/1 หมู่ที่ 1 บ้านย่านยาว ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ 08-1898-4329

  

2. เปิดประตูโรงเรือน เยือนฟาร์มเห็ดโกลั่ม บ้านต้นยูง

เห็ด” เป็นพืชพันธุ์ที่คนทั่ว ๆ ไปรู้จักว่ามีประโยชน์ ราคาไม่แพงมาก การเพาะเห็ดก็คิดว่าไม่ยากอีกเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับพืชพันธุ์ชนิดอื่น และเมื่อพูดถึงเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะเห็ดขายเป็นอาชีพหลักแล้วจะพบได้ไม่มากรายนัก สามารถสร้างรายได้จากการเพาะเห็ดได้อย่างน่าสนใจ จะเห็นได้ว่าอาชีพเพาะเห็ด เป็นอาชีพที่น่าสนใจสำหรับบุคคลที่ต้องการทำอาชีพเสริม เนื่องด้วยต้นทุนต่ำ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ปลูกง่ายและรายได้ดี

          ฟาร์มเห็ดโกลั่ม บ้านต้นยูง ของนายสมหมาย  พันธุ์ภัย เจ้าของฟาร์มเห็ด เริ่มต้นจากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง จากผู้รู้ที่มาจากสำนักหว้า ตำบลเขามีเกียรติ  อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2536 เริ่มจากการสร้างโรงเรือนเพียง 1 โรงเรือน เพื่อทดลองเพาะเห็ดคือเห็ดนางฟ้า  เมื่อได้ผลผลิตก็เริ่มจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง และในปีนั้นได้ส่งดอกเห็ดเข้าประกวดในงานมีประกวดทำก้อนเห็ด และประกวดดอกเห็ดที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสันหาดใหญ่  ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดดอกเห็ด และทำให้มีแรงบันดาลใจ ได้ขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และศึกษาวิธีการเพาะเห็ดใหม่ๆ เช่นเห็ดนางรม เห็ดหูหนู และเห็ดหลินจือ จากการเรียนรู้และประสบการณ์ จนมีความชำนาญในการเพาะเห็ด ปัจจุบันได้ผลิตจำหน่ายตลาดทุ่งลุงและตลาดคลองแงะ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการ โรงเรียน มาศึกษาดูงานและเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดและเป็นแหล่งเรียนรู้ได้  หากใครสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้  ติดต่อได้ที่ นายสมหมาย  พันธุ์ภัย  บ้านเลขที่ 126/9 หมู่ที่ 9 บ้านต้นยูง  ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ 08-9595-1763

  

3. ศูนย์รวมผักไฮโดรโปนิกส์ต้นแบบ  ที่บ้านพร้าวออก

          การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ไม่มีดิน  และรดด้วยสารละลายธาตุอาหารพืชหรือน้ำปุ๋ย การควบคุมโรค  แมลงศัตรูพืชทำได้ง่ายกว่าพืชปกติ ที่สามารถทำให้ผลผลิตที่ออกมาสวยงาม ปลอดสารพิษ สร้างรายได้งาม

          แหล่งเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จ กับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ต้นแบบของอำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งต่างจังหวัด  เริ่มต้นจากเมื่อปี พ.ศ.2544  นายพิโชติ  ผุดผ่อง  ได้ศึกษาหาความรู้และไปอบรมศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และได้นำความรู้จากการอบรมในครั้งนั้นมาทดลองทำ เริ่มจากการลงทุนทำโรงเรือน จำนวน 4 หลัง ระยะแรกได้จำหน่วยผลผลิตในหมู่บ้าน และตลาดนัดต่างๆ จนต่อมาได้ศึกษาหาความรู้และพัฒนาความรู้จากประสบการณ์มาเรื่อยๆ และขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้ส่งจำหน่วยที่ห้างฯบิ๊กซีหาดใหญ่ ห้างฯแมคโคร หาดใหญ่ และส่งตามร้านอาหารต่างๆในอำเภอหาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ดี ปัจจุบันได้สร้างลูกข่ายให้กับผู้ที่สนใจในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ทั้งในอำเภอ ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด จำนวน 10 แห่ง โดยการติดตั้งโรงเรือน ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตลอดระยะเวลาการปลูก

          ปัจจุบันที่หน่วยงานต่างๆ นักเรียน นักศึกษาเห็นความสำคัญ และมาศึกษาเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ หากผู้ใดสนใจที่จะเรียนรู้ก็สามารถติดต่อได้ที่นายพิโชติ  ผุดผ่อง บ้านเลขที่ 35/1หมู่ที่ 9 บ้านพร้าวออก ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์  08-1990-8104

         

 4. สวนไผ่ชวนคิด แปรรูปผลผลิต ที่บ้านทุ่งเจริญ

           ไผ่ตงลืมแล้ง สามารถสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นมาจากงานประจำอีกทางหนึ่งด้วย ในช่วงเริ่มต้นไผ่ตงลืมแล้งที่ปลูกค่อนข้างจะมีปัญหาบ้างเนื่องจากยังไม่มีความชำนาญในการปลูก จนต่อมาสามารถขยายพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้งและสร้างรายได้เข้ามาใช้จ่ายในครอบครับอีกทางหนึ่งด้วย

บ้านธัมมรุจิมาตา เป็นแหล่งปลูกไผ่ตงลืมแล้งสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาหาความรู้จากหนังสือตำรา จากอินเตอร์เน็ต และเริ่มมาทำสวนไม้ไผ่เมื่อ ปี พ.ศ.2554 จนได้รับผลผลิตและได้จำหน่ายในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง จนผลิตที่ได้มีมาก จึงได้คิดค้นวิธีการแปรรูปผลผลิต โดยการนำมาทำหน่อไม้ดอง  เริ่มแรกทดลองทำ 10 ขวด ปรากฏว่าลูกค้าให้การตอบรับดี  จึงเพิ่มจำนวน และพัฒนาวิธีการทำมาเรื่อย จนได้ผลผลิตที่สวยงาม สามารถจำหน่ายได้ดี สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า  นอกจากการจำหน่ายหน่อไม้สด และหน่อไม้ดองแล้ว ปัจจุบันได้เรียนรู้วิธีการขยายพันธุ์หน่อไม้ โดยการตอนกิ่งจำหน่ายต้นพันธุ์ให้กับผู้ต้องการ สร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่งด้วย

 หากผู้ใดสนใจที่จะศึกษาการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง และเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตเป็นหน่อไม้ดอง และการขยายพันธุ์ ติดต่อได้ที่  นางชมพิชาณ์  สุขบูรณ์  บ้านเลขที่ 13/2 หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งเจริญ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ 08-1094-3400

         

 5. เปิดประตูสู่โรงเรือนฟาร์มเห็ดครบวงจร “ฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง”

                จากเด็ก ป.4 และมีโอกาสได้เข้าเรียน ม.ต้น กับ กศน. จนเป็นเจ้าของ “ฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง”  ที่ประสบความสำเร็จ ในการหารายได้ให้กับครอบครัวโดยการเพาะเห็ดโรงเรือนในถุงพลาสติก  จนได้รับรางวัล “คนดี ศรีสงขลา” สาขาเกษตรกรดีเด่น ปี 2555

          นายสมสิน  จุลจินดา  เจ้าของฟาร์มเห็ด เริ่มสนใจการประกอบอาชีพทำฟาร์มเห็ดเมื่อปี 2535 โดยการเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน  และเข้าร่วมการอบรมเรื่องการเพาะเห็ดจากหน่วยงานราชการ  ลองผิดลองถูก  จนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเพาะเห็ดเป็นอย่างดี  ปี 2536 จึงเริ่มทำอย่างจริงจัง  แม้ประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ก็แก้ปัญหาต่างๆ และผ่านไปได้ตลอด จนสามารถขยายฟาร์มเล็กๆ  ให้ใหญ่และสร้างรายได้ เลี้ยงดูครอบครัวจนถึงปัจจุบันนี้ และมีโรงเรือน อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น จนมีหน่วยงานราชการ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจมาศึกษาเรียนรู้จากฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง กันอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ด

          การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก นิยมใช้เห็ดนางรม เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ เห็ดขอนขาว เห็ดบด (เห็ดลม) เห็ดยางิ ซึ่งเห็ดเหล่านี้สามารถเพาะได้กับวัสดุเพาะได้หลายชนิด  โดยเฉพาะขี้เลื่อยไม้ยางพารา ฟาง ซังข้าวโพดป่น ชานอ้อย เป็นต้น อาชีพการเพาะเห็ดสามารถทำรายได้ดี แต่ขึ้นอยู่กับตลาด หากไม่มีการวางแผนมักเกิดปัญหาในเรื่องการขายผลผลิต ซึ่งทางออกในการแก้ปัญหาผลผลิต คือการแปรรูป หากมีผลผลิตมากเกินความต้องการตลาด ปัจจุบันที่จำหน่ายได้ง่าย และตอบรับความต้องการของตลาดได้ดี คือ น้ำเห็ดหลินจือ และน้ำเห็ดสามอย่าง ที่สร้างรายได้ให้ดีขึ้น หากสนใจเรื่องการเพาะเห็ด และการแปรรูปเห็ดสามารถมาเรียนรู้ และติดต่อได้ที่ นายสมสิน  จุลจินดา  บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ 074-251898 , 08-1098-3084

 

 6. แหล่งเรียนรู้ การเลี้ยงปลานิลในกระชังริมคลองอู่ตะเภา

          การเลี้ยงปลานิลในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง โดยการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทั่วไป ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีดินทำกินสามารถมีอาชีพเลี้ยงปลาได้  และมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ปลาโตเร็ว ลดระยะเวลาในการเลี้ยง สะดวกในการดูแลจัดการเคลื่อนย้าย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีรายได้ดีจากการเลี้ยงปลานิลในกระชัง

          เมื่อ ปี พ.ศ. 2557 ชาวบ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งลาน ที่มีพื้นที่อยู่ริมคลองอู่ตะเภาได้หันมารวมตัวกันเลี้ยงปลานิลในกระชัง โดยนายเหิม  รัตนพันธ์ ประธานกลุ่มได้วางแผนและรวมกลุ่มกันเพื่อเลี้ยงปลานิลในกระชังกันมากขึ้น เนื่องจากสภาพพื้นที่ติดริมคลองอู่ตะเภา น้ำอุดมสมบูรณ์ ปลอดสารพิษจากโรงงาน และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ราคาน้ำยางลดลงเรื่อง จึงรวมกลุ่มกันโดยได้รับความรู้จากประมงอำเภอหาดใหญ่ ภูมิปัญญา ผู้รู้ที่มีอยู่ในชุมชน และจากการลองผิดลองถูกใช้เวลา 1 เต็ม กว่าจะประสบความสำเร็จจากเมื่อก่อนเป็นอาชีพเสริม จนปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลในกระชังกลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่อยู่ริมคลองอู่ตะเภาแล้ว และกำลังจะพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งได้รวบรวมสมาชิกจำนวน 10 เพื่อรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป

          การเลี้ยงปลานิลในกระชังจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ สำหรับเกษตรกร ที่อยู่ริมแหล่งน้ำ สนใจติดต่อได้ที่  นายเหิม  รัตนพันธ์ ประธานกลุ่ม   หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา  90230 

 

 7. รวมกลุ่มเลี้ยงวัว ชัวร์เรื่องรายได้ บ้านโคกขี้เหล็ก

          วัวเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงเพื่อจำหน่ายและสร้างรายได้งามให้กับเกษตรกรได้ดี  แต่การรวมกลุ่มเพื่อการเลี้ยงวัวเป็นผลดีต่อการควบคุมดูแลการเลี้ยงวัว  โรค และการรักษาและสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มได้ โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด ด้านข้อมูลต่างๆ

          กลุ่มเลี้ยงวัวบ้านโคกขี้เหล็ก เริ่มต้นจากการพูดคุยกันของเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงวัวจำหน่าย  จากจำนวนน้อยๆ มารวมกลุ่มกันเพื่อข้อคำปรึกษา ด้านข้อมูลการตลาด กระบวนการเลี้ยงวัว  การควบคุมโรคที่เกิดกับวัว พันธุ์หญ้า  จากปศุสัตว์อำเภอคลองหอยโข่ง หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและให้การสนับสนุนกับกลุ่ม  ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มจำนวน 15 คน ในการบริหารจัดการกลุ่ม โดย ว่าที่ ร.ต.ภิรมย์  ประทุมทอง เป็นประธานกลุ่ม นอกเหนือจากการจำหน่ายวัว ที่สร้างรายได้ดีอีกอย่างหนึ่งของกลุ่ม คือ ขี้วัว  จำหน่ายกระสอบละ 50 บาท สร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกกลุ่มเลี้ยงวัวได้ดี อนาคตมีการวางแผนการแปรรูปขี้วัวให้ได้ราคาที่ดีขึ้น และวัวส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมาเลเซีย โดย AEC

          กลุ่มเลี้ยงวัว จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในตำบลทุ่งลาน ที่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ได้ โดยติดต่อ  ว่าที่ ร.ต.ภิรมย์  ประทุมทอง  บ้านเลขที่ 50/3 หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ 08-0036-5894

 

8. สวนหม่อนสร้างรายได้ดี ที่บ้านโคกพยอม

          หากพูดถึง มัลเบอร์รี่  (Mulberry)” หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่นัก แต่เราบอกว่า ลูกหม่อน เชื่อว่าทุกคนจะต้องรู้จัก เพราะมัลเบอร์รี่หรือลูกหม่อนเป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับบ้านเรามาเป็นเวลานาน ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป แต่ถ้าอยากทานลูกมัลเบอร์รี่สดๆ ปลอดสาร 100% เกษตรกรจึงหันมาปลูกหม่อนกันมากขึ้น

          แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจอีกแหล่งหนึ่งของตำบลทุ่งลาน สวนหม่อนสร้างรายได้ดีที่บ้านโคกพยอม โดยนายไมตรี  แก้วนิลและภรรยา ได้สนใจศึกษาวิธีการปลูกหม่อนจากหนังสือ จากการศึกษาดูงาน จากผู้รู้และนำความรู้มาทดลองทำดูได้ผลผลิตดี และยังเรียนรู้การขยายพันธุ์หม่อน เพื่อจำหน่ายต้นพันธุ์ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ดี หากสนใจติดต่อ   นายไมตรี  แก้วนิล/นางเฉี้ยม  แก้วนิล บ้านเลขที่ 11  หมู่ที่ 5      บ้านโคกพยอม ต.ทุ่งลาน  อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ 09-5784-7623

 

9. เครื่องแกงรสดี ที่กลุ่มเครื่องแกงบ้านย่านยาว

          เครื่องแกงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้บริโภคนิยมหันมาใช้เครื่องแกงสำเร็จรูป  ซึ่งมีมากมายหลายกลุ่มที่สามารถเรียนรู้ได้  กลุ่มเครื่องแกงบ้านย่านยาว เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ โดยทางกลุ่มใช้วัตถุดิบที่หาเองจากในชุมชน  เช่น ใช้ข่าป่า ซึ่งมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ ตะไคร้ที่ชาวบ้านปลูกเองในชุมชนมาจำหน่ายให้กับกลุ่ม

          กลุ่มเครื่องแกงบ้านย่านยาว  เริ่มต้นจากการพูดคุยเพื่อการรวมกลุ่มประกอบอาชีพเสริม และติดต่อมากับ กศน.เพื่อให้ความรู้ในการทำเครื่องแกง โดยวิทยากรจากภายนอก และได้รวบรวมทุนเพื่อใช้ซื้อวัตถุดิบ จากสมาชิกจำนวน  15 คน ปัจจุบัน เหลือสมาชิกจำนวน 7 คน และมีการบริหารจัดการกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ และการทำบัญชีของกลุ่ม เครื่องแกงที่ผลิตปัจจุบันจำหน่ายให้กับแม่ค้าขายปลีกในตลาดทุ่งลุง และตลาดคลองแงะ  และตลาดนัดในชุมชน จนเป็นที่ยอมรับ และเป็นศูนย์ฝึกอาชีพที่ทางราชการ โรงเรียน มาศึกษาดูงานการผลิต กระบวนการจัดการกลุ่ม จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองกลุ่มตัวอย่างด้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดสงขลา 

          หากสนใจในการผลิตเครื่องแกง และการบริหารจัดการกลุ่ม สามารถติดต่อได้ที่ นางทัศนีย์  หนูประดับ ประธานกลุ่มเครื่องแกงบ้านย่านยาว บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ 08-1098-1614

 

 10. กลุ่มขนมเพื่อการค้า ขนมอบ มีครบที่บ้านต้นยูง

          กลุ่มขนมเพื่อการค้า เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งที่น่าสนใจ ในตำบลทุ่งลาน  ที่บ้านต้นยูง จากการรวมกลุ่มเพื่อทำขนมต่างๆ จนสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม และผู้ที่สนใจจะศึกษาการทำขนมต่างๆ

          กลุ่มขนมบ้านเพื่อการค้า บ้านต้นยูง มีหลากหลายขนมที่สามารถเรียนรู้ได้ จากเดิมที่มีเตาอบแต่สมาชิกกลุ่มขาดความรู้ในด้านการทำขนมอบ จึงทำแต่ขนมที่ใช้เตาแก๊ช การทอด การปิ้ง  และได้ลองผิดลองถูก วิธีการทำขนมอบ จากการเรียนรู้จากอินเตอร์เน็ตบ้าง แต่ขนมที่ออกมา ขาดความสวยงามไม่น่ารับประทาน ต่อมาได้ติดต่อมายัง กศน.เพื่อหาวิทยากรมาสอนในการทำขนมอบ และพัฒนาจนเป็นขนมอบที่มีความหลากหลาย สามารถหน่ายขนมได้ทุกโอกาส และผลิตส่งให้กับแม่ค้าขายปลีกตามร้านค้าต่างๆ และร้านค้าขายขนมในตลาดทุ่งลุง และตลาดใกล้เคียง สามารถเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้สมาชิกกลุ่ม ขณะนี้ มีสมาชิกจำนวน  7 คน

หากสนใจที่จะเรียนรู้ได้ที่ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กลุ่มขนมเพื่อการค้า ที่บ้านต้นยูง ติดต่อ นางกาญจนา  พันธุ์ภัย ประธานกลุ่มขนม บ้านเลขที่ 126/9 หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ 08-6297-5841

 



เข้าชม : 857
 
 

ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบลทุ่งลาน 

บ้านพร้าวออก หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 โทรศัพท์  089-8700994 
                                         E-mail:tunglannfe@hotmail.com/Facebook:ศูนย์การเรียนรู้ระดับ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา                                           
สังกัดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอคลองหอยโข่ง  สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสงขลา
กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05