[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
วิธีแก้ผมร่วง

พุธ ที่ 9 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2559

คะแนน vote : 57  

16 วิธีแก้ผมร่วงที่ได้ผลจริง และปลอดภัย

วิธีแก้ผมร่วง
   เส้นผมของคนเราก็เหมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่ ผมสวยก็เหมือนสวมเสื้อผ้าสวยงาม ถ้าเสื้อเก่าและขาดวิ่นก็เหมือนผมที่แห้งกร้านเป็นรังแค แต่ที่แย่กว่านั้น คือ สวมเสื้อผ้าขาดก็เหมือนผมร่วงศีรษะล้านคงทำให้เจ้าของขาดความมั่นใจ ยิ่งเป็นผมที่เราไม่สามารถเปลี่ยนได้เช่นเสื้อผ้าคงยิ่งทำให้เครียดไม่น้อย โดยปกติคนเรามีเส้นผมอยู่ประมาณ 1 แสนเส้น เส้นผมจำนวนนี้จะคลุมหนังศีรษะสวยงามไม่ให้ล้านเลี่ยนและป้องกันแสงแดดไม่ให้ส่องถึงหนังศีรษะโดยตรง แต่ละวันคนเราจะมีผมร่วงจากการเสื่อมของรากผมประมาณ 50-100 เส้น โดยรากผมจะมีอายุประมาณ 3 ปี และทุกๆวันจะมีการผลิตเคราติน (Keratin) เพื่อทับเส้นผมเดิม หากเส้นผมร่วงมากกว่านั้นจะก่อปัญหาให้เจ้าของเพราะเคราตินไม่สามารถผลิตเส้นผมออกใหม่ได้ทันทำให้ผมบาง ผมร่วงเป็นหย่อมๆหรือศีรษะล้านไม่สวยงาม
สาเหตุของผมร่วง
1. เกิดจากกรรมพันธุ์ ถ้าเราดูแลเส้นผมและหนังศีรษะอย่างดีแต่ยังมีผมร่วง ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ โดนจะสังเกตได้ว่าผู้ชายจะเริ่มผมร่วงและบางจากบริเวณหน้าผากขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะมีผมร่วงและบางบริเวณกลางศีรษะ

     2. ผมร่วงสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชาย จากที่พบว่าเพศชายจะมีผมร่วงมากกว่าเพศหญิงนั่น เพราะฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อเอนโดรเจน (Androgen) จะกระตุ้นการสร้าง DHT (Dihydrotestosterone) ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะผมร่วงผมบาง ในผู้หญิงหากรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอนโดรเจนมากก็อาจมีปัญหาผมร่วงได้เช่นกัน

     3. เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทำร้ายผมหรือหนังศีรษะ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผมที่มีสารเคมีมากหรือสารเคมีที่รุนแรงเกินไป การไม่ทำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ เช่น ส่วนใหญ่การยืด ดัด หรือทำสี จะแนะนำให้ทำห่างกันอย่างต่ำ 2 เดือน แต่เรากลับรบกวนเส้นผมบ่อยกว่านั้นทำให้รากผมถูกทำลาย ผมจึงร่วงผิดปกติ

     4. เกิดจากการขาดสารอาหาร เช่น ในผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารอย่างไม่ถูกวิธี หรือผู้ที่รับประทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ไม่สามารถนำสารอาหารมาผลิตเคราตินได้ทันความต้องการใช้ ทำให้ผมร่วง หรือแม้กระทั่งการดื่มน้ำน้อยกว่าวันละ 2 ลิตร ก็เป็นสาเหตุเสริมให้เกิดผมร่วงได้

     5. เกิดจากการเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคผิวหนัง หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด หลังการผ่าตัด หรือแม้กระทั่งความเครียดล้วนก่อให้เกิดผมร่วงผิดปกติ

     6. การอักเสบของหนังศีรษะ เช่น เชื้อรา กลาก เกลื้อน โรคสะเก็ดเงิน แต่อาการผมร่วงชนิดนี้จะมีลักษณะร่วงเป็นหย่อมๆ

ดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้ผมร่วง

การดูแลเส้นผมด้วยการสระผมให้สะอาด

การดูแลเส้นผมด้วยการสระผมให้สะอาด

     1. การดูแลขั้นตอนแรกเลยต้องดูแลเรื่องการสระผมให้สะอาด แต่ต้องไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำร้ายเส้นผมและหนังศีรษะมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ผมร่วง และไม่ควรสระผมบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้หนังศีรษะแห้ง แชมพูสระผมที่แนะนำส่วนใหญ่จะเป็นแชมพูสระผมเด็ก เพราะมีสารเคมีน้อย หรือแชมพูสระผมที่สกัดมาจากสมุนไพรแต่ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

ใช้ไดร์เป่าผม หรือเช็ดผมให้พอหมาด หลังจากสระผมทุกครั้ง

ใช้ไดร์เป่าผม หรือเช็ดผมให้พอหมาด หลังจากสระผมทุกครั้ง

     2. หลังสระผมแล้วควรเช็ดผมให้หมาด หรือใช้ไดร์เป่าผมพอหมาด ไม่ใช้ระดับความร้อนมากเกินไป เพราะจะทำให้หนังศีรษะแห้ง และไม่ควรเข้านอนทั้งผมเปียก เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราที่หนังศีรษะ อีกทั้งยังทำให้เส้นผมอ่อนแอหลุดขาดง่ายไม่ควรมัดผมแน่นเกินไป หรือมัดผมขณะเข้านอน เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนบริเวณหนังศีรษะไม่สะดวก ซึ่งเป็นสาเหตุให้รากผม และผมอ่อนแอหลุดร่วงง่ายในที่สุด

รับประทานอาหารให้ครบทั้งห้าหมู่ โดยเฉพาะโปรตีนซึ่งจำเป็นสำหรับการงอกของเส้นผม

รับประทานอาหารให้ครบทั้งห้าหมู่ โดยเฉพาะโปรตีนซึ่งจำเป็นสำหรับการงอกของเส้นผม

     3. ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้งห้าหมู่ ไม่อดอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนซึ่งจำเป็นสำหรับการงอกของเส้นผมมาก ในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติสามารถรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่นเสริม เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ตับ ผักใบเขียว วิตามิน และอาหารที่อุดมด้วยซิลิกา (Silica) เพื่อลดการหลุดร่วงของเส้นผม ซิลิกา พบมากในแตงกวา มันฝรั่ง ถั่วงอก พริกหยวก

     4. นอกจากต้องรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ยังมีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันผมหลุดร่วง คือ
          – อาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่ผ่านการทอดน้ำมัน น้ำมันส่วนเกินในร่างกายจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านต่อมไขมันหรือซีบัม (Sebum) ซึ่งต่อมนี้มีอยู่ที่หนังศีรษะด้วย ปกติหนังศีรษะของเราจะขับน้ำมันส่วนเกินตลอดเวลาอยู่แล้ว หากเรารับประทานอาหารที่มีไขมันมากจะยิ่งเพิ่มการขับน้ำมันทำให้หนังศีรษะมันง่ายมากขึ้นและสะสมฝุ่นระหว่างวันมากขึ้นทำให้ผมหลุดร่วงง่าย
          – อาหารที่มีเกลือสูง เช่น ขนมขบเคี้ยวบรรจุถุงที่พบว่ามีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณเกินความต้องการของร่างกาย รวมทั้ง ซีอิ๊ว ซ๊อส เครื่องปรุงรสต่างๆ หรือแม้กระทั่งผงปรุงรสอาหารก็เช่นกัน อาหารกลุ่มนี้ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดจึงไหลเวียนไม่สะดวกทำให้การส่งผ่านออกซิเจนและสารอาหารได้ไม่เต็มที่
          – เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ต่างๆ เพราะทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่นในระยะยาวจึงทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายไม่สะดวก
          – ผงชูรส ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องปรุงรสต่างๆ มากมาย ต้องดูส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ให้ดี เพราะผงชูรส หรือ Monosodium glutamate เป็นตัวขัดขวางการดูดซึมวิตามินบี 6 (Vitamin B 6) ซึ่งเป็นวิตามินที่กระตุ้นการงอกของเส้นผม

ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ

ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ

     5. การออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้เส้นเลือดทั่วร่างกายมีการสูบฉีดเพิ่มขึ้นทำให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์ได้ดีขึ้นรวมทั้งหนังศีรษะ อีกทั้งเป็นการช่วยระบายสิ่งสกปรกคั่งค้างบางส่วนออกทางเหงื่อผ่านรูขุมขนที่หนังศีรษะด้วย

     การดูแลรักษาผมร่วงมีหลายวิธี แต่ละวิธีแตกต่างกันทั้งสรรพคุณ และผลที่ต้องการ บางสูตรเป็นการเสริมความแข็งแรงของเส้นผม ป้องกันผมร่วง และทำอย่างไรเมื่อผมร่วง ศีรษะบางแล้ว ควรเลือกใช้สูตรหรือวิธีการให้เหมาะกับสภาพผมแต่ละคนเพื่อประสิทธิภาพการดูแลผมได้อย่างเต็มที่

สูตรรักษาผมร่วงด้วยสมุนไพร ปลอดภัย ประหยัด และมีคุณค่า

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยมะกรูด

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยมะกรูด

1. มะกรูด สูตรตั้งแต่โบราณ ยังเป็นสูตรบำรุงผมทั้งรังแค ผมมัน ช่วยให้ผมนุ่มสวย และลดผมร่วง นับเป็นสมุนไพรเพื่อเส้นผมและหนังศีรษะของคนไทยโดยแท้ วิธีการโดยการนำมะกรูด 4-5 ผล มาต้มพอให้มะกรูดนิ่ม นำมาคั้นเอาแต่น้ำ ที่ต้องต้มเพื่อให้เปลือกนิ่มและคั้นน้ำได้มาก นำน้ำมะกรูดมาหมักผมไว้2-5 นาที แล้วล้างออก สูตรนี้สามารถทำได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยขิง

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยขิง

2. สูตรขิง โดยการนำขิงแก่มาอิงไฟ หรือย่างให้พออุ่น ไม่ไหม้ นำมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาทาทิ้งไว้ให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ 20-30 นาทีแล้วล้างออก สระผมตามปกติ นอกจากน้ำมันในขิงจะกระตุ้นการงอกของเส้นผม สรรพคุณของขิงเองยังฆ่าเชื้อราบนหนังศีรษะอันเป็นสาเหตุหนึ่งของผมร่วงอีกด้วยตามตำราสมุนไพรจีน ขิงหมกร้อนช่วยให้หลอดเลือดขยาย เลือดจึงไหลเวียนที่หนังศีรษะได้ดี

3. สูตรหมักผมด้วยเบียร์ โดยการนำเบียร์มาชโลมผมที่สระแล้ว 1 รอบหมักผมทิ้งไว้ 20-30 นาที โดยใช้หมวกคลุมอาบน้ำ หลังจากนั้นล้างออกและสระผมต่อตามปกติ สารหมักในเบียร์ช่วยให้รากผมแข็งแรงไม่หลุดร่วงง่าย

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยไข่ไก่ และน้ำมันมะกอก

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยไข่ไก่ และน้ำมันมะกอก

4. สูตรไข่ น้ำมันมะกอก ใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง ผสมน้ำมันมะกอก 1 ช้อนชา คนให้เข้ากัน ชโลมผมทิ้งไว้ 30 นาที แล้วล้างออก ทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รากผมจะแข็งแรง ถ้าเป็นคนผมมันอาจเปลี่ยนจากน้ำมันมะกอกเป็นโยเกิร์ตสูตรธรรมชาติ สูตรนี้ควรเลือกซื้อไข่ไก่จากแหล่งที่สะอาดปลอดภัย

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยน้ำผึ้ง

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยน้ำผึ้ง

5. สูตรน้ำผึ้ง สูตรนี้เหมาะกับผู้มีผมแห้ง วิธีทำโดยการใช้น้ำผึ้งประมาณ 1 อุ้งมือ ถ้าผมหนาอาจใช้มากกว่านั้น นำมาชโลมทั่วผมที่สระแล้ว 1 ครั้ง หมักไว้ 10-20 นาที ก่อนสระล้างออกตามปกติ ถ้าเส้นผมแห้งและเสียมากอาจเติมน้ำมันมะกอกลงไป ½ ช้อนชา

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยอาโวคาโด

วัตถุดิบของสูตรการรักษาผมร่วงด้วยอาโวคาโด

6. สูตรอาโวคาโด นำอาโวคาโด ½ ผล มาบดให้ละเอียดผสมกับโยเกิร์ตสูตรธรรมชาติให้พอหนืดนำมาหมักผมไว้ครั้งละ 10-20 นาที ก่อนสระออกตามปกติ

การแก้ผมร่วงด้วยแชมพูแก้ผมร่วง

การแก้ผมร่วงด้วยแชมพูแก้ผมร่วง

7. แก้ผมร่วงด้วยแชมพูแก้ผมร่วง
     การเลือกซื้อแชมพูลดผมร่วงควรอ่านที่ฉลากว่าเป็นสูตรลดผมร่วงหรือไม่ โดยเลือกแชมพูที่ฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน (Androgen) ลดการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน (Testosterone) เป็น DHT (Dihydrotestosterone) ซึ่งฮอร์โมนนี้ทำให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะเล็กลง ถ้ารูขุมขนที่หนังศีรษะมีขนาดเล็กลงและผมที่งอกมามีลักษณะบางและสั้นจะเป็นสาเหตุของผมขาดร่วงและบางตามมา อีกทางเลือกที่ดีและอ่อนโยนควรเลือกแชมพูสมุนไพร โดยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ป้องกันผมร่วง เช่น ว่านหางจระเข้ ชาเขียว ลาเวนเดอร์ ขิง ส่วนแชมพูสมุนไพรที่กระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นผม เช่น พริก ขิง

การแก้ผมร่วงด้วยการทำทรีทเม้นท์

การแก้ผมร่วงด้วยการทำทรีทเม้นท์

8. แก้ผมร่วงด้วยการทำทรีทเม้นท์ (Treatment)
     ทรีทเม้นท์คล้ายกับการใช้แชมพูแก้ผมร่วง คือ เราจะใช้ทรีทเม้นท์สำเร็จบรรจุกระปุกเอามาอุ่น ให้ร้อน นำทรีทเม้นท์มาพอกและนวดทั้งหนังศีรษะและเส้นผม หลังจากนั้นคลุมด้วยหมวกอาบน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วล้างออก ทรีทเม้นท์จะเข้าบำรุงเส้นผมให้รากผมแข็งแรงล้ำลึกกว่าแชมพู ปัจจุบันทรีทเม้นท์มีหลายสูตร เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว ควรเลือกให้เหมาะกับสภาพผมและหนังศีรษะ

การแก้ผมร่วงด้วยโคลนหมักผม

การแก้ผมร่วงด้วยโคลนหมักผม

9. แก้ผมร่วงด้วยโคลนหมักผม
     โคลนหมักผมจะคล้ายกับทรีทเม้นท์ โคลนจะใช้หมักผมทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที หรืออบไอน้ำประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วล้างออก โคลนหมักผมจะช่วยให้รากผมแข็งแรงมีทั้งสูตรสำหรับผู้ที่มีผมแห้ง และผมมัน

การแก้ผมร่วงด้วยเซรั่มปลูกผม

การแก้ผมร่วงด้วยเซรั่มปลูกผม

10. แก้ผมร่วงด้วยเซรั่ม (Serum) ปลูกผม
     เซรั่มปลูกผมจะมีลักษณะใสใช้นวดทั้งศีรษะหลังสระผมเสร็จแล้ว โดยเซรั่มปลูกผมจะแบ่งเป็นสูตรจากสมุนไพรที่พบส่วนใหญ่ผลิตในประเทศไทย เช่น เซรั่มมะหาด ขิง และเซรั่มที่สกัดมาจากสูตรเคมีซึ่งจะพบในเซรั่มนำเข้าจากต่างประเทศ

11. แก้ผมร่วงด้วยอาหารเสริมบำรุงราก และเส้นผม
     อาหารเสริมบำรุงเส้นผมส่วนใหญ่จะใช้ร่วมไปกับวิธีอื่นทั้ง แชมพู เซรั่มหรือทรีทเม้นท์ที่ลดการหลุดร่วงและปลูกเส้นผมเพิ่ม

การรับประทานอาหารเสริมบำรุงเส้น เพื่อรักษาผมร่วง

การรับประทานอาหารเสริมบำรุงเส้น เพื่อรักษาผมร่วง

     11.1 อาหารเสริมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 6 ที่ส่งเสริมการงอกของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง ในผู้ที่มีผมร่วงอาจใช้วิตามินบีเสริมในปริมาณที่สูงกว่าปกติ 5-6 เท่า โดยในแต่ละวันร่างกายต้องการวิตามิน บี 6 1.8-2.2 มิลลิกรัม อาการเป็นพิษจากการรับประทานวิตามินบีมีน้อยแต่ควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการท้องอืด คลื่นไส้ ให้ลดขนาดลงและหยุดรับประทานหากลดขนาดแล้วอาการยังไม่ทุเลา

     11.2 อาหารเสริมในกลุ่มไบโอติน (Biotin) ปัจจุบันถูกเรียกว่าวิตามินบี 7 (Vitamin H) ละลายในน้ำ พบในถั่ว ไข่แดง กะหล่ำ ขนมปังธัญพืช ปกติคนเราจะไม่ขาดวิตามินชนิดนี้ เพราะร่างกายต้องการปริมาณน้อยและสามารถสร้างเองได้ที่ลำไส้ใหญ่ แต่จะพบว่าร่างกายไม่สามารถดูดซึมไบโอตินในคนที่กำลังเจ็บป่วย หรือผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะกลุ่มซันฟา (Sulfonamides) ซึ่งส่งผลให้เส้นผมหลุดร่วง จึงมีไบโอตินชนิดเม็ดบรรจุ มีคำแนะนำว่าควรรับประทานวันละ 100-300 ไมโครกรัมต่อวัน การเกิดพิษจากไบโอตินยังไม่มีรายงาน แต่ควรสังเกตอาการรวมกับผู้ที่ได้รับวิตามินบี คืออาการอืดท้อง คลื่นไส้ให้หยุดรับประทาน

     11.3 นอกจากนี้ยังมีวิตามินบรรจุขวดชนิดรวม ทั้งวิตามิน บี ไบโอติน เหล็ก สังกะสี วิธีการใช้ผู้ผลิตจะแนะนำไว้ที่ฉลากยา ควรตรวจสอบ ซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ และมีเครื่องหมายขององค์การอาหารและยาหรืออย.รับรอง หากหลังรับประทานมีอาการคลื่นไส้ ให้หยุดรับประทานและปรึกษาแพทย์

12. แก้ผมร่วงด้วยยารักษาผมร่วง

การแก้ผมร่วงด้วยยารักษาผมร่วง

การแก้ผมร่วงด้วยยารักษาผมร่วง

     12.1 การใช้ยารับประทานรักษาผมร่วงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียง คือ หย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย แพทย์จะสั่งยา Finasterideโดยยาตัวนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ 5a-reductase enzyme ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมน DHT ที่หนังศีรษะลดลงจึงลดการหลุดร่วงของเส้นผม

     12.2 ยารับประทาน Dutasteride ยาตัวนี้มีทั้งชนิดรับประทานและทำเป็นรูปยาทา ผลข้างเคียงของยาเหมือน Finasteride ยาตัวนี้จะใช้ได้ผลหลังจากใช้ยาไป 3 เดือน

     12.3 การใช้ยาทารักษาผมร่วง ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน ยาที่แพทย์จะสั่งให้ใช้คือ Minoxidil ความแรงที่ 5% โดยใช้ยาตัวนี้ทาวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี และจะเริ่มมีอาการผมร่วงลดลงตั้งแต่เดือนที่ 6 หลังใช้ยา รูปแบบของยามีทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาแต่แพทย์จะนิยมให้เป็นยาชนิดทามากกว่า เพราะยา Minoxidil ชนิดรับประทานก่ออาการข้างเคียงได้รุนแรงกว่า คือ อาจทำให้มีอาการวูบจากภาวะความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ

การแก้ผมร่วงด้วยยาปลูกผม

การแก้ผมร่วงด้วยยาปลูกผม

13. แก้ผมร่วงด้วยยาปลูกผม
     
นอกจากการรักษาลดอาการผมขาดร่วงอันเป็นสาเหตุให้หนังศีรษะบางแล้ว การปลูกผมเพื่อให้งอกใหม่ทดแทนส่วนที่ขาดร่วงไปก็สำคัญ ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาผมหลุดร่วง คือ ยา Finasteride, Minoxidil แต่มีบางครั้งอาจพบว่ามีการใช้สเตอรอยด์ (Steroid) เข้ามาทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด มีคำแนะนำว่าควรใช้โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างจริงจัง เพราะผลข้างเคียงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสเตอรอยด์จะกระตุ้นอาการของโรคประจำตัวที่เป็นให้กำเริบ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต

การแก้ผมร่วงด้วยการฉีดยา

การแก้ผมร่วงด้วยการฉีดยา

14. แก้ผมร่วงด้วยการฉีดยา
     เหมาะกับผู้ที่มีผมร่วงแบบเฉียบพลันและผมร่วงเป็นหย่อมๆ อาการผมร่วงประเภทนี้มักเกิดจากการเจ็บป่วย วิธีการ คือ แพทย์จะทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการฉีดยาปลูกผม ทายาชาก่อนจะฉีดวิตามินกระตุ้นรากผม ระหว่างนี้อาจใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อให้วิตามินซึมทั่วบริเวณ และขั้นตอนสุดท้ายแพทย์ผิวหนังจะทาเซรั่มที่มีส่วนผสมของยากระตุ้นการงอกของรากผมและนวดหนังศีรษะทิ้งไว้ หลังฉีดยาอาจมีอาการข้างเคียง คือ หนังศีรษะบริเวณที่ฉีดยาจะแดง คัน และให้งดสระผม 1 วัน

15. แก้ผมร่วงด้วยการปลูกถ่ายผม
     เป็นศัลยกรรมที่ยอมรับกันว่าปลูกผมได้จริงและไม่กลับมาหลุดร่วงง่ายจากปัญหาของฮอร์โมน DHT และการทำศัลยกรรมวิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์ศัลยกรรมปลูกผม โดยต้องพักหลังปลูกผมประมาณ 4 วัน วิธีการ คือ แพทย์จะย้ายเส้นผมบริเวณด้านหลังศีรษะ ท้ายทอย แม้กระทั่งขนหน้าอก มาปลูกบริเวณที่ศีรษะล้าน โดยการเคลื่อนย้ายทั้งรากผม วิธีการทำมีหลายวิธี คือ

การแก้ผมร่วงด้วยการปลูกถ่ายผม

การแก้ผมร่วงด้วยการปลูกถ่ายผม

     15.1 วิธี Follicular Unit Transplantation หรือ Strip technique หรือ FUT ตัดหนังศีรษะเพื่อทำการปลูกผมใหม่และเย็บปิด วิธีนี้อาจทิ้งรอยแผลไว้บ้าง

     15.2 วิธี Follicular Unit Extraction หรือ FUE วิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดแผลนานเช่นวิธีแรก แพทย์จะใช้เครื่องมือเจาะผิวบริเวณหนังศีรษะให้เป็นรูก่อนเคลื่อนย้ายรากผมมาปลูก วิธีการรักษาประเภทนี้อาจไม่ได้ผล เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ หรือรากผมหลุดร่วงไม่สามารถงอกใหม่ได้ แต่เป็นวิธีที่ถือว่ามีประสิทธิภาพแต่ก็ไม่เหมาะกับทุกคน ผู้ที่เหมาะกับวิธีนี้คือผู้ที่มีผมร่วงจนศีรษะล้านมานาน และไม่มีอาการว่าจะมีผมร่วงหรือศีรษะล้านกินบริเวณกว้างไปมากกว่านี้ และสุดท้ายต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ว่าเห็นสมควรทำศัลกรรมปลูกผมหรือไม่

     15.3 ปัจจุบันมีวิธีการปลูกผมชนิดใหม่โดยไม่ต้องผ่าตัด เรียกว่า Dermal lens แต่วิธีนี้ยังทำได้น้อยในประเทศเราและมีราคาแพงมากจึงได้รับความนิยมน้อย วิธีการ คือ เก็บรากผมไปปลูกบนแผ่นปลูกผมเทียมในห้องแล็ป ซึ่งปัจจุบันทำเฉพาะในแล็ปประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผมงอกออกมาแล้วจึงนำแผ่นปลูกผมเทียมมาปลูกกับหนังศีรษะของผู้ต้องการรักษาอีกครั้ง เป็นอีกวิธีทางเลือกให้รู้ไว้ แต่คงอีกนานกว่าวิธีนี้จะได้รับความนิยมหรือทำได้จริงในประเทศไทย

16. แก้ผมร่วงด้วยการใช้เลเซอร์ (Laser)
     วิธีนี้เป็นการยิงเลเซอร์เข้าไปบริเวณที่ผมเริ่มบางแต่รากผมยังไม่ตายเป็นการกระตุ้นหลอดเลือดให้อุ่นจนขยายตัว จึงเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มการนำออกซิเจนและสารอาหารไปยังบริเวณที่ยิงเลเซอร์ ทำให้รากผมที่ยังอยู่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารได้มากขึ้น เลเซอร์ยังยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน DHT ที่เป็นสาเหตุของผมร่วง วิธีนี้แพทย์จะทำสัปดาห์ละครั้ง ส่วนจะทำกี่ครั้งขึ้นอยู่กับการตอบสนองของบุคคลนั้น แต่จะเริ่มเห็นผลหลังยิงเลเซอร์ครั้งที่ 5 เป็นต้นไป

     อาการผมร่วงผมบางแม้จะพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่รักษาให้หายขาดยากและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง แต่เราควรปฏิบัติตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพเพื่อเป็นการช่วยเสริมสุขภาพผมให้มีสุขภาพดี ไม่หลุดร่วงง่าย โดยวิธีปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติดังที่ได้กล่าวไว้ขั้นต้น ซึ่งการดูแลสุขภาพตัวเองไม่ได้ให้ผลดีเฉพาะเส้นผมและหนังศีรษะเท่านั้นยังส่งผลดีถึงสุขภาพกายโดยรวมอีกด้วย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

แสดงความคิดเห็น 

Copyright © 2015 - 2016 pikool.com      นโยบายการใช้งานเว็บไซต์พิกุลดอทคอม     Sitemap 

เข้าชม : 1064


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      อาชีพ ทำได้ง่ายๆ 3 / ก.ค. / 2563
      ที่สุดในโลก 24 / เม.ย. / 2563
      เพาะถั่วงอก 24 / เม.ย. / 2563
      โควิด 19 6 / เม.ย. / 2563
      หลักสูตร กศน.และการลงทะเบียนของนักศึกษาภาคเรียนที่ 1/2560 26 / มิ.ย. / 2560


 

สกร.ตำบลน้ำน้อย
เลขที่ 193 หมู่ที่ 7 ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงชลา 90110
โทรศัพท์ 074-219316(สำนักงาน)085 - 5912485(ครูก้อย) 086-2853833(ครูแจ้ว) 
แฟกส์ 074-219318
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหาดใหญ่
สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสงขลา

 

 

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05