ดาวเรือง สรรพคุณและประโยชน์ของดอกดาวเรือง 42 ข้อ
ดาวเรือง
ดาวเรือง ชื่อสามัญ African marigold, American marigold, Aztec marigold, Big marigold[1],[5]
ดาวเรือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[5]
สมุรไพรดาวเรือง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดาวเรืองใหญ่ (ทั่วไป), คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), ว่านโซ่วจวี๋ (จีนกลาง), บ่วงลิ่วเก็ก เฉาหู่ย้ง, กิมเก็ก (จีน), ดาวเรืองอเมริกัน เป็นต้น[1],[4],[5],[11]
ลักษณะของดาวเรือง
- ต้นดาวเรือง เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก[3] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่อง ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน[1],[4],[8] โดยจัดเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก (แต่อาจจะใช้การปักชำได้ แต่ต้นที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่า) เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดแบบเต็มวัน[3],[5] โดยแหล่งเพาะปลูกดาวเรืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง พะเยา ราชบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น[10] โดยดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta), ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula), ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold), ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia)[8]
- ใบดาวเรือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร เนื้อใบนิ่ม[1],[4]
- ดอกดาวเรือง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสดหรือสีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน[4] โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออกปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว[1],[2],[5]
- ผลดาวเรือง ผลเป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกจะแห้งติดกับผล[1] โคนกว้างเรียวสอบไปยังปลายซึ่งปลายผลนั้นจะมน[3]
สรรพคุณของดาวเรือง
- ดอกและรากมีรสขมเผ็ดเล็กน้อย มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ (ดอก, ราก)[4]
- ดอกใช้เป็นยาฟอกเลือด (ดอก)[1],[3]ในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกเป็นยาฟอกเลือด (ดอก)[11]
- ใช้ใบแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย (ใบ)[6]
- ช่วยแก้อาการเวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6]
- ดอกช่วยบำรุงสายและถนอมสายตาได้ดี ในตำรายาจีนจะนำดอกมาปรุงกับตับไก่ใช้กินเป็นยาบำรุงสายตาได้ดี (ดอก)[3]
- ช่วยแก้ตาเจ็บ ตาบวม ตาแดง ปวดตา ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[1],[4],[5],[6],[11]
- ดอกใช้รักษาคางทูม ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6] ส่วนตำรายาจีนจะใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง เต่งเล้า อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผง ผสมกับน้ำส้มสายชูคนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ดอก)[4]
- ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้สูงในเด็กที่มีอาการชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอก)[13]
- ช่วยแก้อาการไอหวัด ไอกรน ไอเรื้อรัง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6],[11]
- ช่วยขับและละลายเสมหะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5]
- น้ำคั้นจากใบใช้แก้อาการหูเจ็บ ปวดหู (ใบ)[1],[3],[5]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[4],[6]
- ช่วยรักษาปากเปื่อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ช่วยแก้คอและปากอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ดอกใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบหรือระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ โดยใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกสด 30 ดอก ผสมกับจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม, จุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[6],[11]
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝี โดยใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb), เต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู คนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ดอก)[1],[3],[4],[6],[11]
- ดอกและทั้งต้นเป็นยาขับลม ทำให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี (ดอก, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[15] ส่วนตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกจะใช้ช่อดอกและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม (ดอก, ใบ)[11]
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ต้น)[14]
- รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[11]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ทั้งต้น)[1],[2]
- ต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคไส้ตันอักเสบหรือมีอาการปวดท้องขนาดหนักคล้ายกับไส้ติ่ง (ต้น)[3]
- ใบและช่อดอกนำมาชงกับน้ำ ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ดอก, ใบ)[11]
- ตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกเคยมีการใช้ดอกและใบดาวเรืองนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ดอก, ใบ)[11]
- ดอกเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[1],[5] โดยในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกดาวเรืองเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[11]
- ดอกใช้เป็นยากล่อมตับ ดับพิษร้อนในตับ ด้วยการใช้ดอก 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[4],[6]
- รากใช้เป็นยาแก้พิษ แก้อาการบวมอักเสบ (ราก)[4]
- ดอกมีสรรพคุณเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็ว ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นแผล (ดอก)[1]
- ใบมีรสชุ่มเย็นและมีกลิ่นฉุน น้ำคั้นจากใบสามารถนำมาใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อย หรือนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้ (ใบ)[1],[3],[4],[5] บ้างก็ใช้น้ำคั้นจากใบนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว เคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อยและฝีต่าง ๆ (ใบ)[11]
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้ฝีต่าง ๆ ฝีฝักบัว ฝีพุพอง หรือนำใบมาตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น อีกทั้งยังช่วยรักษาแผลฝี ตุ่มมีหนอง อาการบวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุได้อีกด้วย (ใบ)[1],[3],[5],[6]
- ต้นใช้เป็นยารักษาแก้ฝีลม (ต้น)[3]
- ในบราซิลจะใช้ช่อดอกนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อ (ดอก)[11]
เข้าชม : 3763
|