[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
ศูนย์การเรียนรู้ตำบลบ้านนา ยินดีต้อนรับ หมู่ 6 บ้านท่าชะมวง ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 90130 โทรศัพท์ 074-207092
 

  

บทความทั่วไป
\"คลื่นความร้อน\" หรือ \"Heat Wave\"

พฤหัสบดี ที่ 16 เดือน มีนาคม พ.ศ.2560

คะแนน vote : 52  


 

เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี ถ้าใครติดตามข่าวต่างประเทศ น่าจะพอรับทราบผลกระทบของคลื่นความร้อนในทวีปยุโรป และอเมริกา 

ล่าสุด ปีนี้ในประเทศบอสเนีย มีผู้หญิงเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนแล้วหนึ่งคน และในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ภายในอาทิตย์เดียว มีเหยื่อสังเวยคลื่นความร้อนถึงเจ็ดรายด้วยกัน

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในปี 2011 ยังไม่จัดว่ารุนแรงนัก คลื่นความร้อนที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในยุโรปปี 2003 โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 35,000 ราย เกือบครึ่งในจำนวนนั้น เป็นการเสียชีวิตเฉพาะในฝรั่งเศสประเทศเดียว

สิ่งแรกที่เราควรเข้าใจเกี่ยวกับ "คลื่นความร้อน" หรือ "Heat Wave" คือนี่เป็นการบัญญัติศัพท์ที่ผิด คลื่นความร้อน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ "คลื่น" แบบที่เรามักเข้าใจกัน

นักเรียนวิทยาศาสตร์ประถมแทบทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับการถ่ายความร้อนสามประเภทคือ การนำ การพา และการแผ่รังสี 

ประเภทสุดท้ายนั้นคือการที่วัตถุอุณหภูมิสูงส่งด้วย "รังสีความร้อน" ไปยังวัตถุข้างเคียง

แต่รังสีความร้อนในที่นี้แทบไม่เกี่ยวข้องอันใดกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อน แบบที่เราได้ยินได้ฟังในข่าวเลย คลื่นความร้อนคือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างรุนแรงในช่วงระยะเวลาและพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของฤดูกาล

คำว่า "ฤดูกาล" นี้เป็นกุญแจสำคัญ ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างพายุไต้ฝุ่นหรือพายุเฮอริเคนจัดว่าเป็นสภาวะอากาศสุดโต่ง (severe weather) หากเรามองธรรมชาติเป็นความสงบนิ่งร่มเย็น พายุไต้ฝุ่นก็คือปรากฏการณ์ที่มาทำลายรบกวนความสงบนิ่งตรงนี้ ถึงแม้ผลกระทบทางสังคม ความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินจากคลื่นความร้อนจะไม่ต่างจากพายุมากนัก แต่คลื่นความร้อนเป็นส่วนหนึ่งของการผันแปรตามวัฏจักรในธรรมชาติ

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนเปรียบเทียบได้กับเด็กกำลังนั่งไกวชิงช้า ระดับความสูงมากสุดของชิงช้าในแต่ละเที่ยวไม่ควรต่างกันมากนัก แต่เป็นไปได้ที่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ได้แก่การเลื่อนเข้าออกของน็อตชิงช้าขันไว้อย่างหลวมๆ กระแสลมพัดมาพอดี หรือการขยับตัวยุกยิกของเด็ก ส่งผลให้เที่ยวหนึ่งของชิงช้าดีดตัวเองขึ้นสูงกว่าปกติ

ดวงอาทิตย์อาจเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมให้เกิดฤดูกาล แต่ในระดับพื้นผิวโลกมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายตั้งแต่อุณหภูมิกระแสน้ำ ความชื้น จนถึงชนิดของสัตว์และพืชที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ในกรณีของคลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี 2003 ซึ่งจัดเป็นปรากฏการณ์คลื่นความร้อนขั้นรุนแรงในรอบหนึ่งร้อยปี 

นักวิทยาศาสตร์พบว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากความชื้นในผิวดิน ซึ่งแห้งติดต่อกันมาหลายปี ความแห้งของผิวดินส่งผลให้อากาศพื้นผิวแห้งตามไปด้วยและปริมาณเมฆน้อยผิดปกติ เมฆที่น้อยลง ก็บังแสงอาทิตย์ได้น้อยลง ยิ่งส่งผลให้อุณหภูมิสูงและผิวดินแห้งหนักข้อขึ้นไปใหญ่ สภาวะเล็กน้อยซึ่งวนเวียนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ลงเอยที่ปรากฏการณ์ความร้อนซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมหาศาลดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

คำถามสำคัญคือกิจกรรมของมนุษย์เรา ซึ่งเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลอะไรต่อปรากฏการณ์คลื่นความร้อนได้หรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างแบบจำลองอากาศย้อนหลัง ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนถึงปี 2003 โดยละเลยเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ 

พวกเขาพบว่ามีโอกาสไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อุณหภูมิในทวีปยุโรปช่วงปี 2003 จะสูงถึงขนาดที่วัดออกมาได้จริง (สำหรับผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดบทความ Human contribution to the European heat wave of 2003 ของ Peter A.Stott จากนิตยสาร Nature ได้)

เรามักจะได้ยินว่าผู้เสียชีวิตจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อนเป็นชาวยุโรป หรือชาวอเมริกาที่ไม่คุ้นเคยกับอุณหภูมิสูงและไม่ได้เตรียมตัวรับมืออย่างถูกวิธี นั่นหมายถึงคนไทยผู้มีวิถีชีวิตอยู่กับอากาศร้อนจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากคลื่นความร้อนเลย ถูกหรือไม่ คำตอบคือไม่ ในปี 2007 ทวีปเอเชียใต้ ซึ่งมีภูมิอากาศร้อนเป็นประจำประสบกับหายนะจากคลื่นความร้อน ชาวบังกลาเทศเสียชีวิต 26 ราย และชาวปากีสถานอีก 192 ราย จากอุณหภูมิที่ความสูงผิดปกติถึง 40-50 องศาเซลเซียส 

นอกจากนี้ ผลพวงของอุณหภูมิที่สูงขึ้น สามารถนำไปสู่ปรากฏการณ์อื่นๆ ได้ เช่น ไฟป่า ในปี 2009 เมืองอะเดลเลดในประเทศออสเตรเลีย ประสบกับหายนะไฟป่าขึ้นรุนแรงซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อนนี้ ผู้คนเสียชีวิต 210 ราย และมีบ้านเรือนวอดวายถึง 2,500 หลัง

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังพิสูจน์ความเกี่ยวข้องระหว่างคลื่นความร้อนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศ แต่ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดและอาจเป็นอีกหนึ่งผลกระทบของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่บันยะบันยังตามวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่นี้ก็ได้

 โดย ภาณุ ตรัยเวช 

 

 

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2554)






เข้าชม : 418


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 24 / ก.ค. / 2560
      แนะนำวิธีการปลูกดอกดาวเรือง 29 / มิ.ย. / 2560
      ประวัติกีฬาแห่งชาติ 29 / มิ.ย. / 2560
      พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หยุดราชการ26 ต.ค.60 4 / พ.ค. / 2560
      วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล 23 / เม.ย. / 2560


 
 
ศกร.ตำบลบ้านนา 
หมู่ที่ 6 (บ้านท่าชะมวง) ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 90130 โทรศัพท์ 08-9467-9027
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05