ยังเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายด้วย
ชาวมุสลิม ยึดหลักศาสนาอิสลามเป็นหลักในการดำรงชีวิต แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะแท้จริงแล้วหลักการของศาสนาอิสลามกลับมีแนวคิดที่สอดคล้องกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างมาก
แนวคิดนี้ รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หัวแรงในการจัดงานมหกรรมอาหารและวัฒนธรรมมุสลิมไทย ครั้งที่ 2 ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 24-25 มกราคมที่ผ่านมา ได้นำหลักการทางศาสนาอิสลามมาผสมผสานกับหลักการแพทย์สากลเข้าด้วยกันจนออกมาเป็น "วิถี 6บ." เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในมุสลิมไทย
เริ่มจาก 1.บริเวณ คือ การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ 2.บริสุทธิ์ คือ ความสะอาดชำระล้างเพื่อปราศจากความสกปรก เป็นเหตุนำสู่โรคไข้เจ็บ 3.บริโภค คือการรับประทานอาหาร ที่ลดการเจ็บป่วย และอาหารที่ใช้เป็นยาได้ 4.บริบาล คือ การรักษาพยาบาล ยาใดมีคุณ ยาใดที่มีโทษ 5.บริจาค คือ การแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้เพื่อมนุษย์ และ 6.บริหาร คือ การพักผ่อนและสันทนาการ ท่วงท่าในการออกกำลังกายที่ดูแลตนเองอย่างง่าย
หนึ่งในการบ.ที่น่าสนใจ และยังถูกนำไปประยุกต์ใช้กับบริบททางวัฒนธรรมของแต่ละภาค นั่นคือ การบริหารร่างกาย ด้วยการออกกำลังกาย
หากนึกถึงสัญลักษณ์ของภาคอีสาน "ผ้าขาวม้า" นับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของคนในภาคนี้ เพราะเป็นทั้งผ้าคาดเอว เผ้าเช็ดหน้าเช็ดเหงื่อ ผ้าคลุมผม และอื่นๆ อีกสารพัดประโยชน์
นอกจากนี้ "ผ้าขาวม้า" ยังเป็นอุปกรณ์ในการออกกำลังกายด้วยเช่นกัน!!~
สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตอุดรธานีหรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าวิทยาลัยพลศึกษาอุดรธานี มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านหนองเตาเหล็ก ที่ชาวมุสลิมสูงอายุมักนำผ้าขาวม้ามาประยุกต์ใช้เพื่อออกกำลังกายกันจำนวนมาก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535
นางภควรรณ อ่อนคำ อาจารย์จากสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตอุดรธานี ในฐานะครูผู้ฝึกสอนผ้าขาวม้าลมปราณ เล่าว่าเหตุที่เลือกผ้าขาวม้ามาใช้ในการออกกำลังกายเพราะคนอีสานมีผ้าขาวม้าติดตัวตลอดเวลา
แต่การออกกำลังกายของชาวมุสลิมไม่สามารถนำเพลงมาเต้นเป็นแอโรบิกได้ จึงได้ประยุกต์เป็นการกำหนดลมหายใจเข้าออกฝึกลมหายให้หายใจเป็นและถูกต้อง
การอบอุ่นร่างกาย เริ่มจากท่าคารวะ 4 ทิศเป็นการปั๊มเลือดขึ้นสู่สมอง ต่อด้วยท่าดินสู่ฟ้า ฟ้าสู่ดิน เป็นการทรงตัวและยืดเหยียดและงอบริเวณหัวเข่า ท่าวาดพื้นพสุธา เป็นการยืดเหยียดแขนและจัดระยะห่างระหว่างบุคคลและท่าพญาอินทรีย์ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัว
จากนั้นต่อด้วยการเริ่มท่าบริหารด้วย 1.ท่าสนต้องลม เป็นการยืดเหยียดบริเวณแขน ขา มือ และเท้า 2.ท่าลมเปลี่ยนทิศ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัวแนวดิ่ง 3.ท่าบิดเขาพระสุเมรุ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งตัวแนวดิ่ง 4.ท่าเถรบิดกาย เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและข้างลำตัว 5.ท่าชายสามศอก เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นแขน 6.ท่าหอกโมขศักย์ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขา
7.หักกรุงลงกา เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง 8.ท่ากายาสลับทิศ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อลำตัวแนวนอน 9.อินทรชิตนั่งแท่น เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อขาและหลัง 10.ท่าพญาแถนวัดเมือง เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อขาและการทรงตัวแนวดิ่ง 11.ท่าขุนเรืองยันกำแพง เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหัวไหล่และแขน 12.ท่าบิดแทงลอดขาเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและข้างลำตัว
13.ท่าพระเจ้าตาดัดเข่า เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อขาและการทรงตัวแนวดิ่ง 14.ท่างูเห่าเหยียดตัว เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและท้องและการทรงตัว 15.ท่าเจ้าสัวก้มเงย เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและขา 16.ท่าลูกเขยเกาหลังเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหัวไหล่และแขน 17.ท่าขุนคลังพายเรือ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อลำตัว แขน ขา และหลัง 18.ท่าเสือซ้อนกล เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหัวไหล่และ 19.ท่าขุนพลชักดาบ เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหัวไหล่และหลัง
ท่าบริหารเหล่านี้เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุชาวมุสลิม เพราะไม่ได้ใช้เสียงเพลง แต่เน้นการกำหนดลมหายใจเข้าออก อีกทั้งในรายที่ไม่สามารถแอโรบิกได้ เนื่องจากมีท่วงท่าที่เร็ว และรุนแรงก็สามารถนำผ้าขาวม้าลมปราณไปฝึกได้ ใช้เวลาเพียง 12 นาทีเท่านั้น
"มีหลายรายจากที่แขนซ้ายและอวัยวะซีกซ้ายชาจนไม่สามารถขยับได้ ตอนนี้สามารถขยับได้ตามปกติแล้ว หรือรายอื่นๆที่มีอาการปวดหัว เวียนหัวก็ทำให้อาการเหล่านั้นหายไป พร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรงมาแทนที่"
คุณภควรรณ แอบกระซิบมาว่า ผู้สูงอายุรายที่ฝึกเป็นประจำ ล้วนมีร่างกายแข็งแรงกันทั้งสิ้น แม้อายุสมาชิกในชมรมจะล้วนขึ้นเลขเจ็ดกันแล้ว แต่เรื่องสมรรถภาพของร่างกายไม่ต้องบอก เป็นทีมนักวิ่งผู้สูงอายุของประเทศไทยกันแทบยกกลุ่มกันเลยทีเดียว
ศาสนา วัฒนธรรม หรือแม้แต่อายุ จึงไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแต่อย่างใด
เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
เข้าชม : 940
|