ในสมัยก่อน ประเทศในแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์เดย์ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในหน้าเกษตรกรรม จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังขอให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุข รวมถึงทางภาคเหนือของยุโรปก็ยังมีการจัดงานรอบกองไฟในวันเมย์เดย์นี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังคงปฏิบัติกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในตอนแรก วันเมย์เดย์ถือเป็นเพียงแค่วันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมในหลายๆ แห่งได้ถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่างๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการออกมาเรียกร้องในหลายประเทศทางแถบตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล ทำให้ในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานเป็นขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
วันแรงงานในประเทศไทย
อุตสาหกรรมไทยในสมัยก่อนได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้โดยงาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางมีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับ วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น