ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีการประโคมข่าวครึกโครมว่าด้วยการเกิดอากาศที่ร้อนระอุ ภัยแล้ง และการขาดน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคของหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และ พัทลุง รวมถึงบางอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราชนั้น ถึงขั้นต้องไปซื้อน้ำพื้นที่ใกล้เคียงมาผลิตน้ำประปา ผ่านไปไม่นาน เมื่อมาถึงฤดูมรสุม มีฝนตกหนัก ก็เกิดเป็นปรากฏการณ์น้ำท่วม หลายพื้นที่ก็เดือดร้อนอีก เป็นวัฏจักร วนเวียนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้มาระยะหนึ่งแล้ว
เหตุการณ์ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2559 จนกระทั่งฉลองปีใหม่ผ่านไปถึง 6 มกราคม 2560 พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน ตกแบบไม่ลืมหูลืมตา ประกอบกับน้ำจากภูเขาไหลบ่า เกิดเป็นปรากฏการณ์ น้ำท่วมทั้งจังหวัด แบบที่ยังไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน ผู้คนทั้งในเมือง นอกเมือง ได้รับความเดือดร้อนกันทั่วทุกหัวระแหง อ.เมือง อ.ชะอวด อ.ทุ่งสง อาการหนักสุด น้ำเอ่อเข้าท่วมเต็มทุกพื้นที่
เนื่องจากไม่มีใครคาดคิด จึงไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า เป็นเหตุให้หลายๆ บ้านปราศจากการเตรียมตัวและเตรียมใจ ปรากฏเป็นความเสียหายอย่างหนัก
จ.นครศรีธรรมราช กลายเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ที่เส้นทางคมนาคม 3 ทาง คือ รถไฟ รถยนต์ และเครื่องบิน ปิดตายพร้อมกันภายในวันเดียว ถนนขาด ท่วมทางรถไฟและสนามบิน
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย ดร.รอยล จิตรดอน เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำท่วมภาคใต้เอาไว้ก่อนปีใหม่ว่า น้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานั้นจะซึมลงดิน จนดินนั้นอุ้มน้ำเอาไว้เต็มพิกัด หากหลังปีใหม่ยังมีฝนตกลงมาอย่างหนักอีก เมื่อนั้นหลายพื้นที่จะเดือดร้อนหนัก เพราะดินอุ้มน้ำเอาไว้เต็มพิกัดแล้ว
ไม่เพียงแต่ดินอุ้มน้ำเอาไว้เต็มพิกัดเท่านั้น เมื่อตรวจสอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงกับการเกิดน้ำท่วมอย่างน่าตกใจยิ่ง เพราะพบว่าเส้นทางการไหลของน้ำที่มีอยู่เดิมได้ถูกขวางกั้นด้วยหมู่บ้านจัดสรรแล้วเกือบทั้งหมด เช่น พื้นที่ ถนนสะพานยาว ที่เดิมเคยเป็นคลองน้ำผ่านที่ใหญ่ที่สุดในเขต อ.เมือง เวลานี้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนขนาดย่อมแห่งหนึ่งของจังหวัดเลยทีเดียว หรือกระทั่งถนนกะโรม ที่พาดผ่านทางรถไฟ เดิมเป็นคลองรับน้ำ บัดนี้ถูกถมเต็มพื้นที่ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีคลอง หรือแหล่งใดๆ ระบายน้ำได้เลย อีกทั้งยังมีรายงานว่า ท่อระบายน้ำแทบทุกแห่งก็เต็มไปด้วยขยะอุดตัน ยากต่อการไหลผ่านของน้ำ
เรียกว่า ระบบผังเมืองเต็มไปด้วยปัญหา
ล่าสุด อ.รอยลให้สัมภาษณ์ว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับภาคใต้ โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช พัทลุง และ สุราษฎร์ธานีนั้น สาเหตุหลักมาจากฝนซึ่งตกหนักมาก โดยฝนที่ตกหนักมากนั้นก็เพราะเวลานี้ภาคใต้ถูกรุมล้อมไปด้วย หย่อมความกดอากาศต่ำ 3 จุดด้วยกัน คือ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลอันดามัน บริเวณหัวเกาะสุมาตรา หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งหย่อมความกดอากาศต่ำทั้ง 3 จุดนี้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย แต่ตัวที่มีอิทธิพลที่ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จนถึงปัจจุบันก็คือ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลอันดามัน
ทั้งนี้ ความกดอากาศต่ำ คือ บริเวณร่องฝนที่จะทำให้เกิดฝนตกลงมา ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำนั้นหมายถึงร่องฝนที่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนากลายเป็นพายุรุนแรงได้
“ที่ผ่านมาภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้เยอะ ไม่ค่อยจะมีปัญหาขาดน้ำหน้าแล้ง และน้ำท่วมหน้าฝน หรือฝนตกหนัก นอกเหนือฤดูฝนปกติ แต่ตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป และปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข บวกกับมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น กลายเป็นปัญหาทับถม แก้ไขยาก” อ.รอยลกล่าว
ผู้อำนวยการ สสนก.บอกด้วยว่า เห็นไม่บ่อยนักสำหรับพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแล้วเส้นทางคมนาคมไม่สามารถใช้การได้ทั้ง รถไฟ รถยนต์ และเครื่องบิน เพราะอย่างน้อยที่สุดแล้ว ควรจะรักษาเส้นทางคมนาคมเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งเอาไว้ โดยเฉพาะสนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรปล่อยให้ถูกน้ำท่วมได้ แต่พื้นที่นครศรีธรรมราชก็ยังถูกน้ำท่วมได้
“แสดงว่านอกเหนือจากปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้ว การบริหารจัดการน้ำและจัดการพื้นที่ก็มีปัญหาด้วย” อ.รอยลกล่าว
ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีใครคิดกันมาก่อนว่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล น้ำระบายได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ปรากฏว่าทั้งนครศรีธรรมราช เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมหนัก ท่วมตลอด และกว่าจะระบายน้ำออกหมดก็ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
หลายสมัยมาแล้ว ที่ผู้บริหารพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ ทั้งฝ่ายการเมือง กับส่วนราชการ รับรู้รับทราบ แต่แก้ไขไม่ได้เสียที และดูเหมือนว่าปัญหาจะลุกลามบานปลายออกไปเรื่อยๆ ใครก็ช่วยไม่ได้
แต่สำหรับประชาชน คนอยู่อาศัย ทนได้ก็ทนกันไป แต่ถึงทนไม่ได้ก็ยังต้องอดทนอยู่ดี…
เข้าชม : 430
|