แหล่งเรียนรู้และเครือข่าย
ตอนที่ 1 บทนำ
1. ความเป็นมา
การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ. 2552-2561) ได้ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างมีคุณภาพ ให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ”
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีนโยบายให้มีการจัดตั้ง กศน.ตำบลขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับประชาชนเพื่อประชาชนได้ใช้ในการแสวงหาความรู้เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้
2. ความหมาย
กศน.ตำบล หมายถึง หน่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ตั้งอยู่ในระดับตำบล/แขวง
3. หลักการ
หลักการทำงาน กศน. ตำบล ยึดชุมชนเป็นฐานในการทำงานและการเรียนรู้ โดยใช้ต้นทุนของชุมชน เช่น อาคาร สถานที่ แหล่งวิทยาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี มีการประสานเครือข่ายในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน/สังคม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล ทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา บูรณาการกระบวนการเรียนรู้ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมมชน มีคณะกรรมการ กศน. ตำบล ที่เป็นคนในชุมชนให้การส่งเสริมสนับสนุน ติดตามดูแลและร่วมประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
4.วัตถุประสงค์
กศน. ตำบล จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
2) เพื่อสร้างและขยายภาคีเครือข่ายในการมีส่วนร่วมการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน
3) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของภาคีเครือข่าย
4) เพื่อประสานและเชื่อมโยงการดำเนินงานจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน
ตอนที่ 2 การดำเนินงาน กศน.ตำบล
1. การบริหารจัดการ
มีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
1) ด้านอาคารสถานที ปรับปรุงอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอกให้มีความพร้อมในการให้บริการให้มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย เหมาะสมและมีบรรยากาศเอื้อต่อการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
2) ด้านวัสดุ ครุภัณฑ์ จัดหา วัสดุ และครุภัณฑ์ พื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย เพียงพอกับความต้องการ เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับบริการสืบค้นข้อมูล โปรเจ็กเตอร์เครื่องเล่นดีวีดี อุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม วิทยุ ฯลฯ และดูแล บำรุงรักษาวัสดุ และครุภัณฑ์ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
3) จัดหาสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ ทั้งสื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ และ สื่ออิเล็กทรอนิกส์
4) ด้านบุคลากร
หัวหน้า กศน. ตำบล ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน และประสานการทำงานกับครู ศรช. ชุมชนและภาคีเครือข่าย ปฏิบัติหน้าที่ประจำ ในพื้นที่ กศน. ตำบล ที่รับผิดชอบได้รับการอบรมพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามแผนที่ อำเภอหรือจังหวัด กำหนด
ครู กศน. จัดกิจกรรม กศน. ในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่รับผิดชอบ ประสานการทำงานร่วมกับหัวหน้า กศน.ตำบล ชุมชนและภาคีเครือข่าย
คณะกรรมการ กศน. ตำบล ดำเนินการสรรหา คณะกรรมการ กศนตำบล ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการ กศน. ตำบล เกี่ยวกับการดำเนินงาน กศน. ตำบล เสริมสร้างแรงจูงใจและความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการจัดประชุมคณะกรรมการ กศน. ตำบล
อาสาสมัคร กศน. ตำบล ดำเนินการสรรหาและ เสริมสร้างแรงจูงใจ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล
ภาคีเครือข่าย แสวงหา รวบรวมและจัดทำทำเนียบภาคีเครือข่ายในระดับตำบล สร้างความเข้าใจให้แก่ภาคีเครือข่ายเกี่ยวกับการดำเนินงาน กศน.ตำบล เสริมสร้างแรงจูงใจและความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน.ตำบล
2. กิจกรรมหลักของ กศน. ตำบล
1) ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน (Information center)
1.1) พัฒนาระบบฐานข้อมูและสารสนเทศระดับชุมชน ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัยโดยใช้แบบเก็บข้อมูลของสำนักงาน กศน. จัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ประมวลผลเป็นรายตำบล จัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ และนำมาใช้ในการบริหารจัดกิจกรรม
1.2) จัดทำแผนพัฒนคุณภาพ กศน. ตำบล และแผนปฏิบัติการประจำปี นำเสนอแผน ต่อคณะกรรมการ กศน. ตำบล และภาคีเครือข่าย และเสนอแผนให้ กศน. อำเภอ /เขตพิจารณา อนุมัติ
1.3) เสนอความรู้ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศของชุมชนให้ถูกต้องและทันสมัยโดยเสนอข้อมูลสารสนเทศที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่นข้อมูลเกี่ยวกับ แหล่งเรียนรู้ในชุมชนการตลาดชุมชน สินค้าชุมชน ฯลฯ จัดทำข้อมูลสารสนเทศเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เอกสาร แผนภูมิ แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ เป็นต้น
2) ศูนย์สร้างโอกาสการเรียนรู้ (Opportunity Center)
2.1) ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยประสานงาน/วางแผนร่วมกับภาคีเครือข่าย ในชุมชน เช่นคณะกรรมการชุมชน อบต. พัฒนาที่ดิน สถานีอนามัย พัฒนากรตำบล สหกรณ์ ปศุสัตว์ประมง ตำรวจกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน วัด มัสยิด โรงเรียน ฯลฯ เพื่อจัดกิจกรรมบริการชุมชน รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ของภาคีเครือข่าย ในการจัดการเรียนรู้
2.2) เชื่อมโยงรูปแบบการให้บริการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย กับ กศน. ตำบลโดย ส่งเสริมและหรือจัดกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center)(สอศ.) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน (กระทรวงไอซีที) มุมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (สสวท.) บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ธนาคารเคลื่อนที่ การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย อำเภอเคลื่อนที่ ฯลฯ พัฒนารูปแบบกิจกรรมให้หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในชุมชนเพื่อสร้างโอกาส การเรียนรู้ให้กับประชาชน
2.3) พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโดยจัดทำเว็บไซด์ กศน.ตำบลใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการติดต่อกับผู้เรียน/ผู้รับบริการ สืบค้น รวบรวมและการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต และแหล่งข้อมูลอื่นๆ
3) ศูนย์การเรียนชุมชน (Learning Center)
3.1) ออกแบบกิจกรรม/โปรแกรมการศึกษา ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโดย กศน. ตำบล และกศน. อำเภอ ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายในการออกแบบกิจกรรม/โปรแกรมหรือโครงการ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ ของกลุ่มเป้าหมายและชุมชน. กิจกรรม/โปรแกรมหรือโครงการควรมีลักษณะที่บูรณาการระหว่างวิถีชีวิต การทำงานและการเรียนรู้
3.2) จัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในชุมชน
3.2.1) ส่งเสริมการรู้หนังสือ โดยจัดทำแผนการแก้ปัญหาผู้ไม่รู้หนังสือสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ในตำบลอย่างชัดเจน จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือ ในกลุ่มเป้าหมายอายุ ๑๕ – ๕๙ ปี เป็นลำดับแรก
3.2.2) การศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำแผนยกระดับการจัดการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ผู้เรียนที่ออกกลางคัน เด็กเร่ร่อน
ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ กลุ่มผู้ย้ายถิ่น ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มอาชีพประชากรวัยแรงงาน เป็นต้น วางแผนการจัดการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรายงานผลการดำเนินงาน
3.2.3) การศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการ จัดการศึกษาต่อเนื่องประเภทการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเป็นลำดับแรกโดย จัดทำแผนจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ/หลักสูตรอาชีพระยะสั้น ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชนโดยเน้นการเพิ่มทักษะทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และอาชีพใหม่ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต จัดทำแผนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นของผู้เรียนและชุมชน เช่น การป้องกันสาธารณภัย สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คุณธรรมจริยธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน จัดทำแผนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนใช้รูปแบบ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยการฝึกอบรม การประชุมสัมมนา การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย จัดกระบวนการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองดีของชุมชน สังคม ของประเทศ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ เศรษฐกิจชุมชน และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ จัดการศึกษาต่อเนื่องโดยใช้หลักสูตรบูรณาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3.2.4) การศึกษาตามอัธยาศัย
การส่งเสริมการอ่านโดย จัดทำแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ในรูปแบบต่างๆ เช่น ครอบครัว
รักการอ่าน มุมส่งเสริมการอ่านในชุมชน กศน.ตำบลเคลื่อนที่ อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน กระเป๋าความรู้สู่ชุมชน หีบหนังสือสู่หมู่บ้าน จุดบริการการอ่านชุมชน มุมอ่านหนังสือที่ท่ารถ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม สถานีอนามัย เป็นต้น
จัดบริการสื่อ โดยจัดบริการสื่อประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมและหลากหลาย เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ (นสพ.) สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาธิต สื่อทดลอง วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว เป็นต้น บริการ Student Channel เพื่อเสริมศักยภาพให้กับโรงเรียนดีประจำตำบล บริการการศึกษาทางไกล (ETV) ให้กับนักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไป
4) ศูนย์ชุมชน (Community Center)
จัดและส่งเสริมให้ กศน. ตำบล เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของชุมชนเช่น เวทีชาวบ้าน สภากาแฟ สถานที่พบปะเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลาดนัดอาชีพ กิจกรรมศาสนา วัฒนธรรม เวทีประชาธิปไตย กีฬา ฯลฯโดยครู กศน.ตำบลเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้ง อบต. อบจ. เทศบาล ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งอาสาสมัคร ในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) อาสาสมัคร กศน. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้าราชการบำนาญ เยาวชน ผู้นำท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรม เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
3. การมีส่วนร่วมของชุมชน
การมีส่วนร่วมของชุมชน มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
1) ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของชุมชนเห็นความสำคัญและเข้าร่วมในการดำเนินกิจกรรม กศน. ตำบล และจัดให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นต้น
2) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนางาน กศน.ตำบล อย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมในการนิเทศ ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
3) เสริมสร้างและพัฒนาระบบเครือข่ายการเรียนรู้ ภายในตำบล และระหว่างตำบล เช่น แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนดีประจำตำบลศูนย์ ICT ตำบล เป็นต้น
4. การนิเทศ ติดตามและรายงานผล
1) การนิเทศ ติดตามผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดทำแผนการนิเทศ ติดตามผลการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ประสานภาคีเครือข่ายร่วมนิเทศ ติดตามผล จัดให้มีประชานิเทศกิจกรรมในพื้นที่
2) การรายงานผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดทำปฏิทินการรายงานผลการจัดกิจกรรมจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลการจัดกิจกรรม จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามแบบและระยะเวลาที่กำหนด และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน. ตำบล
ตอนที่ ๓ บทบาทหน้าที่
กศน.ตำบล มีบทบาทสำคัญในการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน โดยมีหัวหน้า กศน.ตำบล เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน กศน.ตำบล ดังนี้
1. บทบาทหน้าที่ของหัวหน้า กศน. ตำบล
1) การวางแผนจัดทำฐานข้อมูลชุมชน จัดทำแผนพัฒนา กศน. ตำบล และจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี
2) การจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
จัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบ ได้แก่ การส่งเสริมการรู้หนังสือการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ การศึกษาต่อเนื่อง
จัดและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ ส่งเสริมการอ่าน จัดและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ บริการข่าวสารข้อมูล และสื่อที่หลากหลาย จัดและส่งเสริมกิจกรรมห้องสมุดประชาชนตำบล ห้องสมุดชุมชน มุมหนังสือบ้าน
3) บริการการเรียนรู้ในชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย
– ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ร่วมกับ (สอศ.)
– ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ (สคบ.)
– ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ร่วมกับ (กระทรวงไอซีที)
– มุมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตร่วมกับ (สสวท.)
– หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ร่วมกับโรงพยาบาล สถานีอนามัย
– ธนาคารเคลื่อนที่
– การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
-อำเภอเคลื่อนที่ ร่วมกับอำเภอ
4) สร้างและพัฒนาภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน โดยการประสานขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย องค์กรชุมชนผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัคร กศน. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เป็นต้น
5) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่แผนงาน โครงการ กิจกรรมและผลการดำเนินงานของ กศน. ตำบล ในรูปแบบต่างๆ
6) รายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามแบบรายงานและระยะเวลาที่กำหนด และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน. ตำบล
2. บทบาทหน้าที่ของ กศน. อำเภอ / เขต ที่มีต่อ กศน. ตำบล
1) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายจุดเน้นของ สำนักงาน กศน.
2) สนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานประจำปี ของ กศน. ตำบล
3) จัดซื้อ จัดหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการให้บริการ
4) พัฒนาหัวหน้า กศน. ตำบล อาสาสมัคร กศน. ตำบล และคณะกรรมการ กศน. ตำบล
5) ประสานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจัดกิจกรรมระดับตำบล
6) ร่วมกับ กศน. ตำบล จัดกิจกรรมการเรียนรู้
7) จัดและพัฒนาระบบงานธุรการของ กศน. ตำบล
8) นิเทศ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
9) สรุป วิเคราะห์ ผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล ในระดับอำเภอ รายงานสำนักงาน กศน.
10) เสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ในรูปแบบต่างๆ
3. บทบาทหน้าที่ของ สำนักงาน กศน. จังหวัด/กทม. ที่มีต่อ กศน. ตำบล
1) ชี้แจงนโยบายจุดเน้นการดำเนินงาน
2) สนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานประจำปี ของ กศน. ตำบล
3) พัฒนาหัวหน้า กศน. ตำบล อาสาสมัคร กศน. ตำบล และคณะกรรมการ กศน. ตำบล
4) ประสานภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดเข้าร่วมจัดกิจกรรมระดับตำบล
5) จัดและพัฒนาระบบงานธุรการของ กศน. ตำบล
6) กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
7) เสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ในรูปแบบต่างๆ
4. บทบาทหน้าที่ของ สถาบัน กศน. ภาค ที่มีต่อ กศน. ตำบล
1) สนับสนุนสื่อการเรียนรู้
2) ร่วมพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษานอกระบบ
3) จัดเวทีแสดงผลงานทางวิชาการระดับภาค
4) ร่วมพัฒนาครู กศน. ตำบล
5) วิจัยเพื่อการพัฒนาการดำเนินงาน กศน. ตำบล
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.(2553)คู่มือปฏิบัติงานครู กศน. ตำบล. กรุงเทพฯ : สำนักงาน กศน.
Download
อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: กศน.ตำบล: แหล่งเรียนรู้ของชุมชน https://panchalee.wordpress.com/2010/12/23/nfe-tumbon/
**************************************
เข้าชม : 4431 |