ความหมายของ "สารท"
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "ออตอม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติ และผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า"Seasonal Festival"
โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
สำหรับในพจนานุกรมไทย "สารท" มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
ต้นกำเนิดของ "สารทไทย"
ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย
สาเหตุที่ต้องมีการจัดพิธีสารทไทยขึ้น ก็เพื่อจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข
ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน
เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
เป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
กิจกรรมในวันสารทไทย
กิจกรรมหลัก ๆ ของวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ตักบาตรน้ำผึ้งที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น มีความเชื่อว่า เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา
เข้าชม : 636
|