ประวัติความเป็นมาของตำบลขุนตัดหวาย
ตำบลขุนตัดหวาย ปรากฏอยู่ในพงศาวดารภาคที่ 15 สมัยอาณาจักรศรีวิชัย พ.ศ. 1400-1823 สมัยต่อมาได้มีการทำสงครามกับชาติมาลายู ถูกชนชาติมาลายูยกทัพมาชิงเมืองชัยสมรภูมิของเมืองจะนะ ซึ่งตั้งอยู่บ้านวังโต้ เนื่องจากเมืองวังโต้ไม่เหมาะในการตั้งรับศึก จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ป่าระไม(ขุนตัดหวาย) ปัจจุบันบริเวณที่เนินสูงตรงข้ามวัดขุนตัดหวาย ขณะนั้นท่านขุน(ชื่อเรียกตามศักดินา)มีช้างพังคู่บารมี 1 ตัว ชื่อพญา ได้เสียชีวิตลงบริเวณเนินสูงดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันนี้ เรียกว่า “โคกนางพญา” ต่อมาท่านขุนได้ไปตัดหวายเพื่อนำมาทำเครื่องใช้สอย บริเวณแอ่งน้ำจึงพลาดตกน้ำเสียชีวิต ตั้งแต่บัดนั้นชาวบ้านจึงเรียก “ขุนตัดหวาย” มาตลอด
อีกตำนานเล่าว่า เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ได้มอบหมายให้ท่านศรี ซึ่งมีศักดินาเป็นขุน ในขณะนั้น ยกทัพไปราบขบถเมืองปัตตานี แต่ทำศึกพ่ายแพ้ จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ทหารที่คงเหลือจากการเสียชีวิต พร้อมได้ กวาดต้อนเกณฑ์ชาวบ้านชนพื้นเมืองจากโคกโพธิ์ของเมืองปัตตานี มาตั้งทัพพักแรมที่ขุนตัดหวายปัจจุบัน เนื่องจากไม่กล้ากลับเมืองนครฯ กลัวถูกตัดหัวประจาญ ในขณะที่พักแรมนั้น ช้างคู่บารมีมีชื่อ “พญา” ได้ตายลง บริเวณเนินสูง จึงเรียก “โคกนางพญา” จนถึงปัจจุบันส่วนท่านขุนศรี และทหารออกไปหาหวายเพื่อนำมาทำของเครื่องใช้ บริเวณคลองแม่ตัดหวาย จึงทำให้พลาดตกคลองดั่งกล่าวจนสิ้นชีวิต ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้สร้างศาลาเพื่อกราบไหว้ไว้บูชา บริเวณคลองแม่ตัดหวาย จึงได้เรียก “ขุนตัดหวาย” จนมาถึงปัจจุบัน ส่วนชาวพื้นเมืองขุนตัดหวายซึ่งมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมากนั้น สันนิฐานมาจากการกวาดต้อนชาวบ้านมาจากเมืองโคกโพธิ์ในครั้งก่อนโน้น
ลักษณะที่ตั้ง อาณาเขตและเขตการปกครอง
องค์การบริหารส่วนตำบลขุนตัดหวายได้ยกฐานะจากสภาตำบล เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 ตั้งอยู่เลขที่ 22/2 หมู่ที่ 3 ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา บนถนนทางหลวงสายจะนะ – นาทวี ห่างจากที่ว่าการอำเภอจะนะ ประมาณ 15 กิโลเมตร ห่าง จากที่ว่าการอำเภอนาทวี ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสงขลาประมาณ 50 กิโลเมตร
มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ จรด ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันออก จรด ตำบลท่าหมอไทร อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
- ทิศใต้ จรด ตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันตก จรด ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ และตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
เนื้อที่
ตำบลขุนตัดหวายมีเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน 20.08 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,550 ไร่
เข้าชม : 788 |