หาโอกาสคุยกันแบบสบายๆ. ฉวยจังหวะตอนที่ทั้งคุณและลูกรู้สึกผ่อนคลาย. ตัวอย่างเช่น พ่อแม่บางคนรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นจะเปิดใจพูดคุยมากกว่าระหว่างที่ช่วยกันทำงานบ้าน หรือนั่งรถไปไหนมาไหนด้วยกัน เพราะในเวลาเช่นนั้นเขาจะรู้สึกเป็นกันเองกับพ่อแม่มากกว่าตอนที่นั่งพูดคุยแบบเป็นทางการ.—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: พระบัญญัติ 6:6, 7
อย่าพูดยืดยาว. คุณไม่จำเป็นต้องแจกแจงทุกรายละเอียดจนทำให้การพูดคุยกันกลายเป็นการทะเลาะกัน. จงพูดเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหา . . . แล้วก็หยุด. ลูกจะ “ได้ยิน” เรื่องที่คุณพูดจริงๆก็ตอนที่เขาอยู่คนเดียวและมีเวลาคิดถึงเรื่องที่คุณพูดกับเขา. จงให้เขามีโอกาสได้ใช้ความคิดบ้าง.—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 1:1-4
รับฟังและรู้จักผ่อนปรน. เพื่อจะเข้าใจปัญหาทั้งหมด คุณควรตั้งใจฟังให้ดีก่อนโดยไม่พูดแทรก. เมื่อตอบ คุณก็ควรตอบแบบมีเหตุผล. ถ้าคุณเข้มงวดกับกฎที่คุณตั้งไว้มากเกินไป ลูกวัยรุ่นก็อาจหาช่องที่จะแหกกฎ. หนังสือพูดคุยกับลูกวัยรุ่นเสมอ (ภาษาอังกฤษ) เตือนว่า “ถ้าทำเช่นนั้น เด็กอาจกลายเป็นคนตีสองหน้า. เมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อแม่ เด็กจะพูดสิ่งที่พ่อแม่อยากได้ยิน แต่พอลับหลังพวกเขาก็จะทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ.”—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: ฟิลิปปอย 4:5
ใจเย็นๆ. เด็กสาวชื่อแครีบอกว่า “เวลาที่เราคิดไม่ตรงกัน ไม่ว่าฉันจะพูดอะไร แม่ก็อารมณ์เสียได้ทุกเรื่อง. มันทำให้ฉันโมโหมาก. คุยกันอยู่ดีๆก็กลายเป็นทะเลาะกันเสียนี่.” แทนที่จะแสดงอารมณ์มากเกินไป จงพูดสิ่งที่เป็นเหมือน “กระจก” สะท้อนความรู้สึกของลูก. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “ลูกจะกลุ้มใจทำไมกับเรื่องแค่นี้!” คุณน่าจะพูดว่า “แม่รู้นะว่าเรื่องนี้ทำให้ลูกกลุ้มใจมาก.”—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 10:19
แนะนำแทนที่จะออกคำสั่ง. ความสามารถในการคิดหาเหตุผลของลูกวัยรุ่นเป็นเหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องค่อยๆสร้างขึ้น. ดังนั้น เมื่อลูกเจอปัญหา อย่าแก้ปัญหาให้เขา. จงให้เขามีโอกาส “ฝึก” ใช้ความคิดและพูดออกมาว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร. หลังจากปรึกษาหารือกันแล้วว่ามีทางแก้อะไรบ้าง คุณอาจพูดกับลูกว่า “ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่น่าจะใช้ได้. ลูกลองไปคิดดูสักสองสามวัน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ว่าลูกชอบวิธีไหนและทำไมถึงเลือกวิธีนั้น